บุหรี่ไฟฟ้า ผลร้ายที่เกิดกับเด็กและวัยรุ่น
ความเชื่อที่ผิด : บุหรี่ไฟฟ้า เป็นแค่ไอน้ำ
ความจริง : ไอของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ไอน้ำ ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดของผู้ใช้สัมผัส กับสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ โดอะซีติล และ อะโครลิน รวมถึงอนุภาคโลหะที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว
ความเชื่อที่ผิด : บุหรี่ไฟฟ้า ไม่มี “นิโคติน” ทำให้ไม่เสพติด
ความจริง : บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้า สารนิโคตินจะถูกส่งไปยังสมองภายในระยะเวลา 10 วินาที สมองของวัยรุ่นยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินมากขึ้น
ความเชื่อที่ผิด : นิโคติน ไม่ได้เลวร้ายสำหรับฉัน
ความจริง : การได้รับสารนิโคตินในช่วงวัยรุ่นส่งผลต่อการพัฒนาของสมองปกติ มีผลในระยะยาว เช่น การขาดสติและทำให้อารมณ์แปรปรวน
ความเชื่อที่ผิด : ก็แค่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้หมายความว่าฉันจะสูบบุหรี่จริง
ความจริง : มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นเมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะไปลองสูบบุหรี่จริง
บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า ‘ต้นทางแรก’ ทำเยาวชนติดยาเสพติด
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยว่า การใช้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนทำให้เสพติดนิโคติน ซึ่งถือเป็นต้นทางแรก ประตูเชื่อมให้ไปสู่การเสพติด ยาเสพติดอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะนิโคตินที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ สามารถดูดซึมได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมากกว่านิโคตินตามธรรมชาติ และยังก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่านิโคตินแบบเดิมอีกด้วย ทำให้เด็กๆ เริ่มทดลองและเสพติดได้ง่ายมาก
การศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน
สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ทำการศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนก่อนได้รับโทษคดียาเสพติด ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ
- จำนวน 300 คน
- อายุเฉลี่ย 17 ปี
- เป็นเพศชาย 289 คน เพศหญิง 11 คน
ผลการศึกษาพบว่า
- 95.4% เคยสูบบุหรี่มวน
- 79.3% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- 76% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นๆ
ยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดในเด็กและเยาวชน ได้แก่
- ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1%
- ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5%
- ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน 8.9%
- ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%
แสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มที่เริ่มสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุยังน้อย จะสามารถเปลี่ยนมาเป็นทั้งผู้เสพและผู้ขายยาเสพติดได้ในอนาคต การจะปราบปรามยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด ต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง คือการปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
สูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงพฤติกรรมเสพติดกัญชา 4 เท่า!
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้ปัจจุบันสารปรุงแต่งกลิ่นและรสในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีความหลากหลายมากถึง 16,000 รสชาติ ยกตัวอย่าง กลุ่มกลิ่นผลไม้ ขนมหวาน เครื่องดื่ม ลูกอม ซึ่งเป็นกลิ่นและรสที่นักสูบหน้าใหม่ชื่นชอบ นอกจากนี้ อุปกรณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือตัวน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า ยังเอื้อให้ผู้สูบสามารถนำสารเสพติดอื่นมาผสมได้อีกด้วย
จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้านำไปสู่การเสพติดกัญชา ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมีโอกาสมากถึง 3.6 – 4 เท่า และในขณะเดียวกันยังมีรายงานการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศแคนาดา เสี่ยงต่อการใช้กัญชาสูงถึง 4 เท่า
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน อาจกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้ จึงขอฝากให้ผู้ปกครอง รวมถึง ครูอาจารย์ ช่วยกันแนะนำ ถึงอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่
ผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษ พิษภัย ของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข้อมูลจาก https://www.nationtv.tv/health/378939171