นิเวศสังคมแบบไหน ที่ใช่สำหรับเด็กและเยาวชน?
เด็กและเยาวชนคนหนุ่มสาวไม่ได้เติบโตในสุญญากาศทางสังคม พวกเขาเติบโตมาขึ้นเป็นอย่างไรนั้น ส่วนหนึ่งมาจากนิเวศสังคมที่แวดล้อมใกล้ชิด และเป็นผลลิตทางสังคมที่อยู่รายรอบพวกเขา แล้วเรามีวิธีการสร้างนิเวศทางสังคมที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนได้อย่างไร รวมทั้งจะมีรูปแบบการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชนที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างไรบ้าง นี้คือคำถามที่โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY) หาคำตอบร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) ทั้ง 23 แห่ง ทั่วประเทศ
โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล/เทศบาล สร้างระบบนิเวศทางสังคมทีเอื้อต่อการพัฒนาและสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชน มีแนวทางคือ 1) การสร้างพื้นที่กลางหรือพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน 2) สร้างกลไกในการขับเคลื่อนประสานพลัง คือการสร้างคณะกรรมการการพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบล (กดยต.) ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคเด็กและเยาวชน 3) ให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการพัฒนาและนโยบายท้องถิ่น 4) การจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนและการจัดสรรงบประมาณสำหรับเด็กและเยาวชน โดยตราเป็นข้อบัญญัติและเทศบัญญัติ
นอกจากนี้โครงการฯยังสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเครื่องมือและทางเลือกใหม่ๆ ในการพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทชุมชนสังคมที่พวกเขาอยู่อาศัย ซึ่งเป็นออกเป็น 4 รูปแบบคือ
1) ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน เป็นการสร้างพื้นที่กลางทางกายภาพเพื่อรวมตัวทำกิจกรรม และพ้นที่ทางความคิดสำหรับเด็กและเยาวชนแสดงความคิดเห็น เก็บรวบรวมข้อมูลในชุมชนแล้วนำเสนอข้อมูลมานำเสนอให้เกิดเป็นนโยบายด้านเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น
2) หลักสูตรท้องถิ่นห้องเรียนชุมชน คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยนำความสนใจของเด็กเยาวชนและทุนทางสังคมในท้องถิ่นมาร่วมกันออกแบบเป็นหลักสูตรท้องถิ่น แล้วจัดการเรียนการสอนตามที่เด็กและเยาวชนต้องการ
3) กองทุนคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น เป็นการสร้างผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ โดยนำทรัพยากรในชุมชนมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเด็กและเยาวชเป็นเจ้าของกองทุนร่วมกันกับภาครัฐและชุมชน นอกจากนี้กองทุนนี้ยังสามารถสนับสนุนทุนในการดำเนินกิจกรรมตามความต้องการของเด็กและเยาวชนได้อีกด้วย
4) ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่น คือการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนระดับตำบลให้มีความรู้ความสามารถในการเรียนรู้การทำงานกับชุมชน บริหารต้นทุนของท้องถิ่น รู้จักการวิเคราะห์ปัญหา และใช้ความความคิดสร้างสรรค์ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างคุณค่าและแก้ไขปัญหาท้องถิ่น
จากเวทีถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการฯ พบว่าปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นให้มีความสามารถและมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ คือการมีชุดความรู้และเครื่องมือเพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนเด็กและเยาวชน มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการสนับสนุนเด็กและเยาวชน มีความร่วมมือจากชุมชนอย่างเข็มแข็ง รวมไปถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงหรือผู้ให้คำแนะนำ เติมความรู้ในบางช่วงของการดำเนินโครงการในระดับพื้นที่นิเวศสังคมที่ใช่สำหรับเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นได้ด้วยพลังของเด็กและเยาวชนระดับตำบล ภาคีเครือข่ายที่เรียกว่าคณะกรรมการการพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบล (กดยต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พร้อมสนับสนุน ที่เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรซึ่งกันและกัน และเสริมพลังบวกให้กัน เสียงสะท้อนจากเวทีถอดบทเรียนเห็นไปทางเดียวกันว่า ยิ่งทำงานร่วมกันหลายฝ่ายยิ่งเห็นศักยภาพของตัวเอง เห็นพลังของการมีส่วนร่วม คนที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในตำบลต่างก็เชื่อมั่นว่าการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมที่หลากหลายและเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น จะสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมที่ต่อเนื่องและเกิดนิเวศสังคมที่ใช่สำหรับเด็กและเยาวชน