นวัตกรรมที่เกิดจากความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับนักเรียนในเรื่องโควิด-19
การสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่สำคัญมากสำหรับยุคที่ผู้คนทั้งโลกต้องหันมาใช้ชีวิตในแบบ “วิถีใหม่” คือการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนพร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
จึงทำให้ วรรณา เลิศวิจิตรจรัส ผู้สั่งสมประสบการณ์ด้านสุขภาพและการศึกษามายาวนานหันมาลงมือสร้างเครือข่ายสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพนักเรียน
“เราเริ่มต้นจากการถอดบทเรียนของโรงเรียนที่สามารถทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพได้ดีและยั่งยืน ทั้งโรงเรียนที่ สสส. เข้าไปมีส่วนร่วม และโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรซึ่งได้รับรางวัลจากกรมอนามัย เพื่อหาจุดร่วมว่าโรงเรียนกลุ่มนี้สามารถทำให้เด็กนักเรียนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพขึ้นมาได้เพราะอะไร”
วรรณา เลิศวิจิตรจรัส
ความรอบรู้ด้านสุขภาพนักเรียน (Health Literacy) ที่เกิดขึ้นแบบมีประสิทธิภาพทั้งในโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน ในเขตเมือง และชนบทนั้นมีจุดร่วมคือองค์ประกอบ 6 ด้าน ได้แก่
- มีเป้าหมายชัดเจนโดยผู้มีส่วนได้เสียกับเด็กนักเรียนทั้งหมด ตั้งแต่คณะกรรมการสถานศึกษา ไปจนถึงบุคลากรในโรงเรียนทุกตำแหน่งต้องมีเป้าหมายและนโยบายที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอะไรร่วมกัน
- มีความรอบรู้เรื่องสุขภาพ(Health Literacy) ที่สามารถสร้างได้จากการออกแบบการเรียนรูปทั้งในและนอกห้องเรียน ตั้งแต่การเลือกอาหาร การเเปรงฟัน การออกกำลังกาย ความสะอาด เพื่อให้เข้าใจว่าเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ
- มีสภาพเเวดล้อมทางกายภาพทั้งสถานที่ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น เพราะมีส่วนสำคัญด้านการพัฒนาสุขภาพกายของนักเรียน
- มีสภาพเเวดล้อมทางสังคมเช่น ร้านค้ารอบโรงเรียน ที่ส่งผลโดยตรงกับสุขภาพนักเรียน
- มีการสร้างความร่วมมือของชุมชนนอกเหนือเวลาที่อยู่ในโรงเรียน ครอบครัวและผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือเรื่องการให้เด็กกินอาหารที่มีคุณภาพ และเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อไม่ให้เด็กซึมซับพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม
- มีการวัดสุขภาพนักเรียนของโรงเรียนขั้นพื้นฐานเพื่อติดตามผลความคืบหน้าเรื่องสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
การส่งเสริมสุขภาพที่ดีเริ่มที่คนใกล้ตัว
หลายโรงเรียนอาจเชี่ยวชาญเรื่องการเรียนการสอน แต่ไม่เข้าใจวิธีการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพนักเรียน เพราะยังสร้างความร่วมมือกับครอบครัว และชุมชนรอบข้างเด็กได้ไม่ดีพอ
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพนักเรียนจึงเกิดขึ้น โดยนำเอาองค์ความรู้ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สะสมจากโครงการต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมโครงการในรูปแบบนิทรรศการและสื่อที่เป็นเครื่องมือสำเร็จรูป เพื่อให้ครูนำกลับไปใช้ มีการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายโดยให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิด และเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละโรงเรียนอย่างเป็นระบบ
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมเริ่มต้นจากการศึกษาด้วยตัวเองก่อน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเสริมสุขภาพนักเรียน
โดยนำไอเดียจากภาคีต่างๆ ของ สสส. ที่มีอยู่แล้วมาต่อยอด กระบวนการเหล่านี้ มีวรรณาและทีมงานคอยให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าบทเรียนซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะมีส่วนช่วยตอบโจทย์ที่โรงเรียนต้องการอย่างแท้จริง
การทำงานบนแนวคิดเครือข่ายสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพนักเรียนไม่ใช่การทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นผู้เฝ้ามองบทเรียนดีๆ จากเครือข่ายภาคีโครงการอื่นๆ ที่คิดว่าน่าจะให้ครูนำไปใช้เป็นเครื่องมือได้ แล้วทำการจับคู่ความต้องการระหว่างเครื่องมือที่มีอยู่กับโรงเรียนที่คิดว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดได้
ทุกปัญหาแก้ได้ถ้าร่วมมือกัน
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เครือข่ายฯ ก็ได้ปรับทิศทางโครงการฯ อย่างเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพด้านการป้องกันโรคติดต่อ ซึ่งทุกโรงเรียนในเครือข่ายก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อในโรงเรียนเลย เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีภาคีในพื้นที่มาช่วยกันดูแลทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง เราทำงานผ่านเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ในรูปคู่มือเล่มเล็กมีภาพประกอบและข้อมูลที่ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ
เพื่อให้ครูใช้สื่อสารกับผู้ปกครอง ช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถดูแลตัวเองได้ ต่อมา เราช่วยทำให้ครูคิดวิเคราะห์เพื่อเห็นสาเหตุของปัญหาที่กว้างขึ้น ทำให้ครูเห็นความจำเป็นของการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายในการดูแลเด็ก ให้มีมุมมองว่าปัญหาเด็กเกี่ยวกับทั้งโรงเรียน ชุมชน และครอบครัว ซึ่งเป็นภาวะแวดล้อมที่เด็กซึมซับไว้
การฝึกคิดวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ และการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ ทำให้โรงเรียนที่มาเข้าร่วมโครงการสามารถเชื่อมโยงทุนที่มีอยู่ และต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างความปลอดภัยจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 250 โรงเรียน ทั้ง 6 ภูมิภาค แต่ละโรงเรียนมีแกนนำที่มาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องกว่า 1 ปีการศึกษา เพื่อนำแนวคิดที่ได้ไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ทางด้านการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทำให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลาย นอกจากระบบรับส่งนักเรียนแบบใหม่ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนให้ติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นแล้ว ยังมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น
โรงเรียนวัดใหม่ภูมิเจริญ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี นำเสนอนวัตกรรมที่มีชื่อว่า 3ก โมเดล ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการเตรียมตัวเชิงรุก ผ่านการเชื่อมโยงด้านการป้องกันสาธารณสุข กายภาพ และกิจกรรมการเรียนรู้เข้าด้วยกัน โดยทำในรูปรายการตรวจสอบที่ช่วยเตือนครูและนักเรียน ผู้ปกครองให้เข้าใจร่วมกัน เพื่อปฏิบัติอย่างถูกสุขลักษณะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
ทวี กรายไทยสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหม่ภูมิเจริญ ให้ภาพการทำงานของโครงการเครือข่ายสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพนักเรียนว่า
“ผลที่ได้จาก 3ก โมเดล ช่วยให้นักเรียนของโรงเรียนวัดใหม่ภูมิเจริญ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีขนาดกลางสามารถมาเรียนได้ตามมาตรฐานหลักสูตรที่กำหนดทุกคน ไม่ต้องแบ่งกลุ่มสลับกันเรียน เพราะมีการรับผิดชอบสังคมทั้งการรักษาสุขอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม แล้วยังมีส่วนช่วยให้เนักเรียนที่เคยป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจมีจำนวนลดน้อยลงอีกด้วย“
“โครงการนี้เป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะการสนับสนุนให้โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางในพื้นที่ห่างไกลมีเครือข่ายทางการศึกษาหลายด้าน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้กับเด็กนักเรียนอย่างเป็นระบบ และยังมีนวัตกรรมที่หลากหลายให้นำไปต่อยอด ช่วยลดเวลาในการคิดค้นขึ้นมาใหม่ เพื่อนำเวลาที่เหลือไปพัฒนางานและการเรียนการสอนอื่นๆ”
ทวี กรายไทยสงค์
อีกตัวอย่างหนึ่งของเครื่องมือที่เป็นผลจากการทำงานในรูปเครือข่ายคือ ‘ถุงมือขยันเรียนห่างไกลโควิด-19’ ของโรงเรียนวัดโพธิ์ศรีสุขาราม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเกิดจากการนำสิ่งของเหลือใช้รอบตัวมาประยุกต์ดัดแปลงเป็นสื่อการเรียนการสอนแสนสนุก และยังเกิดประโยชน์ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การสร้างรายได้ และที่ขาดไม่ได้คือสุขภาพที่ดีจากการสวมถุงมือเพื่อลดสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง
อนงค์รัตน์ มากมีทรัพย์ ตัวแทนของกลุ่มครูที่ช่วยกันสร้าง ถุงมือขยันเรียนห่างไกลโควิด-19 เล่าให้ฟังถึงผลสัมฤทธิ์ของนวัตกรรมชิ้นนี้
“จากการมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดกับโรงเรียนอื่นๆ โรงเรียนเราก็เลยได้ไอเดียว่าให้เด็กนำเสื้อผ้าเก่าใช้เเล้วมาซักแล้วตัดเย็บทำเป็นถุงมือด้วยตัวเอง เพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรค และเป็นสื่อการเรียนการสอน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสุขอนามัยที่ดี พอเห็นเด็กมีความสุข สนุก เรียนรู้ง่ายขึ้นก็ภูมิใจ”
ทอนงค์รัตน์ มากมีทรัพย์
นอกจากนี้ ยังเกิดการตื่นตัวด้านการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพของหลายโรงเรียน เช่น การทำอ่างล้างมือ ทำสบู่ เจลล้างมือใช้เอง รู้จักป้องกันตัวเองมากขึ้นโดยการสวมหน้ากาก แยกของใช้ส่วนตัว รวมทั้งการทำให้เกิดนิสัยล้างมือบ่อยๆ ทั้งหมดนี่บ่มเพาะให้เกิดเป็นพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยป้องกันโควิดเท่านั้น ยังช่วยป้องกันโรคต่อต่ออื่นๆ ได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่างผลลัพธ์ที่ได้จากการที่เครือข่ายมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมี เครือข่ายสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพของนักเรียน เป็นพื้นที่กลางที่ทำให้โรงเรียนได้พัฒนาทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการเรียนการสอน จากการมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ