ทำไม “ความเชื่อ” ของผู้ใหญ่จึงสำคัญต่ออนาคตของเด็ก?

             บทเรียนจากการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาเด็กที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

             ทุกวันนี้ แม้เราจะพูดกันมากถึง “การเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็ก” หรือ “พัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน” แต่ในทางปฏิบัติ เราอาจยังตกอยู่ภายใต้ความเชื่อหรือกรอบคิดเดิม ๆ ที่ไม่ได้สอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการหรือพัฒนาการของเด็กจริงๆ

             โดยเฉพาะในระดับการกำหนดนโยบายหรือบริหารจัดการงานด้านเด็กและครอบครัว ความเชื่อที่ไม่แม่นยำเหล่านี้อาจนำไปสู่การออกแบบระบบที่ไม่ตอบโจทย์ หรือส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการเรียนรู้ของเด็กทั้งรุ่น โดยที่เราอาจไม่ทันรู้ตัว

             ในบทความนี้ เราจะพาไปทำความเข้าใจกับ 7 ความเชื่อผิดๆ ที่แม้จะฟังดูมีเหตุผล แต่กลับเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ที่แท้จริง พร้อมตัวอย่างจากการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในกลุ่มแผนงานสนับสนุนพื้นที่เรียนรู้ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. (สำนัก 4) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

             โดยหวังว่าบทเรียนเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริหารและผู้ดำเนินนโยบายเข้าใจว่า “การสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อเด็กต้องเริ่มต้นจากการทบทวนความเชื่อของเราเอง และเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กมากกว่าที่เคย

ความเชื่อข้อที่ 1: เด็กมี “สไตล์การเรียนรู้” แบบตายตัว
             
หลายคนเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมี “สไตล์การเรียนรู้เฉพาะตัว” เช่น บางคนเป็นนักฟัง บางคนเป็นนักมอง บางคนเป็นนักลงมือทำ และถ้าเราไม่สอนให้ตรงกับสไตล์นั้น เด็กก็จะเรียนรู้ไม่ได้ผล

             แม้แนวคิดนี้ดูมีเมตตาและให้ความสำคัญกับความแตกต่าง แต่จากงานวิจัยด้านการเรียนรู้จำนวนมากพบว่า “สไตล์การเรียนรู้” แบบตายตัวนั้นไม่มีหลักฐานรองรับทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน เด็กไม่ได้เรียนรู้ได้ดีขึ้นเพียงเพราะเราสอนให้ตรงกับ “สไตล์” ที่เขาชอบ เพราะในความเป็นจริง เด็กทุกคนต่างต้องการการเรียนรู้ที่หลากหลายและยืดหยุ่นตามบริบทและประสบการณ์

             พื้นที่เล่นอิสระ: ตัวอย่างของการเรียนรู้ที่ไม่จำกัด “สไตล์”
หนึ่งในกรณีที่เห็นภาพชัดคือ การเปิดพื้นที่เล่นเพื่อให้เด็กในชุมชนได้มาเรียนรู้และใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัว ของ โรงเล่นพิพิธภัณฑ์เล่นได้ หนึ่งในภาคีเครือข่ายของ สสส. ที่ออกแบบการเล่นให้กับเด็กโดยไม่มีแบบฝึกหัด ไม่มีคำสั่ง ไม่มีกรอบจำกัด

             เด็กบางคนปีนป่าย บางคนสร้างของเล่นจากเศษวัสดุ บางคนนั่งดูเพื่อน บางคนเลือกเงียบๆ อยู่คนเดียวช่วงหนึ่งแล้วค่อยออกมาเล่นกับคนอื่น การเปิดโอกาสให้เด็กเลือกวิธีเรียนรู้ของตัวเอง โดยไม่ตีกรอบว่าต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง คือหัวใจของพื้นที่เล่นอิสระ ซึ่งสะท้อนแนวคิดสำคัญว่า “เด็กไม่ได้มีรูปแบบการเรียนรู้ตายตัว แต่ต้องการพื้นที่ที่เคารพความหลากหลายในการเรียนรู้”

ความเชื่อข้อที่ 2: การฝึกซ้ำคือวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุด
             
เราคุ้นเคยกับคำว่า “ฝึกฝนจนชำนาญ” จนทำให้หลายหลักสูตรยังเน้นการเรียนซ้ำๆ เพื่อให้เด็ก “จำได้” เช่น การให้เด็กเขียน ก.ไก่ จนเต็มหน้า การทำแบบฝึกหัดเดิมซ้ำหลายรอบ หรือการสอนโดยหวังให้เด็ก “ท่องจำ” เนื้อหาให้ขึ้นใจ

             แต่ในการเรียนรู้ที่แท้จริง เด็กจะจดจำและเข้าใจเนื้อหาได้ดี เมื่อเขาได้ลงมือ “สร้างความหมาย” ด้วยตัวเอง ผ่านการลงมือทำ การลองผิดลองถูก และการใช้ทักษะหลากหลายร่วมกัน

             ปิดเทอมสร้างสรรค์: จากการฝึกซ้ำ สู่การเรียนรู้ผ่านการเล่น โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ที่ภาคีเครือข่ายในทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ในหนองบัวลำภู นครศรีธรรมราช  อุทัยธานี นครราชสีมา ขอนแก่น แพร่ กรุงเทพฯ และยะลา ได้นำแนวคิดนี้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเปลี่ยนห้องเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กให้กลายเป็น “พื้นที่เล่นเพื่อการเรียนรู้” แทนที่จะเน้นแบบฝึกหัดซ้ำๆ

             เด็กได้ลองวาด สร้าง ทดลอง ทำกิจกรรมกลุ่ม เล่นบทบาทสมมุติ สังเกตธรรมชาติรอบตัว และตั้งคำถามของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องที่ “มีชีวิต” มากกว่าการนั่งจำข้อมูล การฝึกซ้ำอาจทำให้เด็กจำได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจ การเรียนรู้ที่ดีจึงต้องเปิดโอกาสให้เด็ก ได้สร้าง สงสัย และสนุกกับกระบวนการ มากกว่าจะเน้นผลลัพธ์อย่างเดียว

 

ความเชื่อข้อที่ 3: เด็กที่เรียนรู้ได้ดี ต้องเงียบ นิ่ง และตั้งใจฟัง
             ในภาพของ “เด็กดี” ที่หลายคนคุ้นชิน มักหมายถึงเด็กที่นั่งนิ่ง ตั้งใจฟัง ไม่ซุกซน และทำตามคำสั่งได้ดี จนทำให้ในระบบการเรียนรู้บางแห่ง เด็กที่เคลื่อนไหวมาก พูดเยอะ หรือชอบถามคำถาม ถูกมองว่า “ไม่ตั้งใจเรียน” หรือ “ควบคุมยาก”

             แต่ในความเป็นจริง เด็กแต่ละคนมีพลังงานและจังหวะการเรียนรู้ที่ต่างกัน การเคลื่อนไหว พูดคุย ทดลอง หรือแม้กระทั่งความวุ่นวายบางอย่าง คือส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยที่สมองยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็ว

             พื้นที่เล่นอิสระหลายแห่งที่สำนัก 4 สนับสนุนที่อยู่ภายใต้เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ได้ออกแบบกิจกรรมที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ เช่น บ่อทราย บ่อดิน อุปกรณ์ปีนป่าย ของเล่นจากธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง “พื้นที่โล่ง” ให้เด็กได้วิ่ง เล่นบทบาทสมมุติ หรือสร้างเกมของตัวเอง

             ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความสนุกสนาน แต่ยังรวมถึงการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ความสามารถในการวางแผน การควบคุมอารมณ์ และทักษะทางสังคม เด็กไม่จำเป็นต้องนิ่งถึงจะเรียนรู้ได้ หากเราเข้าใจและเปิดพื้นที่ให้เด็กขยับได้อย่างปลอดภัย เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าที่เราคิด

 

ความเชื่อข้อที่ 4: ความฉลาดเป็นสิ่งที่วัดได้จากคะแนน
             
ในหลายระบบการศึกษา “ความฉลาด” มักถูกผูกโยงกับคะแนน การจัดอันดับ หรือการสอบแข่งขัน จนทำให้ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และครูเองเข้าใจว่า เด็กที่ได้คะแนนดีคือเด็กเก่ง เด็กที่ได้คะแนนน้อยคือเด็กไม่เก่ง

             แต่ศาสตร์ด้านพัฒนาการเด็กสมัยใหม่ชี้ว่า ความสามารถในการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “เชาวน์ปัญญา (IQ)” เท่านั้น หากรวมถึงความสามารถด้านอารมณ์ สังคม ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผน การจัดการตนเอง และการตัดสินใจด้วย

             หนึ่งในแนวคิดที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” หรือ EF (Executive Functions) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม

             การเล่น = การพัฒนา EF: กรณีศึกษาจากภาคี “เล่นเปลี่ยนโลก
แผนงาน เล่นเปลี่ยนโลก  ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนัก 4 ได้ผลักดันแนวคิด EF ไปสู่ภาคปฏิบัติ ผ่านกิจกรรมการเล่นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นแบบกลุ่ม เล่นบทบาทสมมุติ การสร้างของเล่นเอง หรือการตั้งเป้าหมาย

             และลงมือทำให้สำเร็จ เช่น การดำเนินงานของ Happy play หนองบัวลำภู เด็กถูกชวนให้เล่นจากวัสดุเหลือใช้ เด็กต้องออกแบบเมือง ร่วมมือกันคิด ตัดสินใจว่าอะไรควรอยู่ตรงไหน ใครจะทำอะไร และจะช่วยกันอย่างไร

             กิจกรรมนี้ไม่เพียงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังช่วยฝึก ความจำใช้งาน (Working Memory)
การยั้งคิดก่อนทำ (Inhibitory Control) และการคิดยืดหยุ่น (Cognitive Flexibility) ซึ่งเป็นทักษะ EF สำคัญที่จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต เพราะ “ความฉลาดวัดไม่ได้จากคะแนน แต่สะท้อนผ่านการจัดการชีวิตในสถานการณ์จริง”เด็กที่มี EF ดี มีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ อดทน แก้ปัญหา และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี

ความเชื่อข้อที่ 5: การเล่นคือสิ่งที่ทำตอนว่างจากการเรียน
             
ผู้ใหญ่จำนวนมากยังแยก “การเรียน” ออกจาก “การเล่น” อย่างชัดเจน เช่น ให้เด็กเรียนก่อน แล้วค่อยให้เวลาเล่นทีหลัง หรือเห็นว่าการเล่นเป็นแค่กิจกรรมคลายเครียด ไม่ใช่เรื่องสำคัญในตัวเอง

             แต่การเล่น โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย คือหัวใจของการเรียนรู้ที่แท้จริง งานวิจัยนานาชาติยืนยันว่า การเล่นช่วยส่งเสริมทั้งพัฒนาการด้านสมอง อารมณ์ สังคม ภาษา และการคิดอย่างมีระบบ ที่สำคัญ การเล่นทำให้เด็ก “เลือก” “คิด” และ “ลงมือทำ” ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่ยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนของสำนัก 4 มีหลายโครงการที่พัฒนาพื้นที่เล่นให้กลายเป็น “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” อันเป็นผลจากการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อนำมาออกแบบในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในชุมชน ทำให้เด็กไม่ได้แค่เล่น แต่ได้วางแผน แก้ปัญหา จัดการความเสี่ยง และสร้างสรรค์สิ่งใหม่  เช่น การออกแบบและพัฒนา  ลานเล่นชุมชน  ของภาคีเครือข่าย พลังเด็กและเยาวชนพื้นที่แพร่-น่าน

             การเล่นไม่ใช่แค่ความสนุก แต่คือเครื่องมือสำคัญในการสร้างคน สนามเด็กเล่นจึงควรเป็น “ห้องเรียน” แรกของชีวิต มากกว่าจะเป็นแค่ที่พักผ่อนหลังเรียนเสร็จ

 

ความเชื่อข้อที่ 6: การเรียนรู้ที่ดีต้องใช้สื่อเทคโนโลยีเยอะๆ
             
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น หลายคนจึงเชื่อว่าการเรียนรู้ของเด็กควรผสมผสานกับเทคโนโลยีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น การเรียนผ่านแท็บเล็ต แอปพลิเคชัน เกมออนไลน์ หรือสื่อดิจิทัลต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เด็ก “ทันโลก” และเรียนรู้ได้รวดเร็ว

             แต่ในช่วงปฐมวัย งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า การปฏิสัมพันธ์กับคนจริง พื้นที่จริง และวัตถุจริง ยังเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เด็กต้องใช้ประสาทสัมผัสหลากหลาย ได้ขยับ ได้ตั้งคำถาม และได้ทดลองกับโลกจริงก่อนที่จะเรียนรู้จากโลกเสมือน

             พื้นที่ธรรมชาติ = ห้องเรียนชีวิตที่ดีที่สุด โครงการ ศิลปะด้านใน  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนัก 4 ได้ริเริ่มกิจกรรมที่นำเด็กออกจากห้องเรียนสู่ธรรมชาติ เช่น โรงเรียนในภูเขา  ไม่มีตึกสูง ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีไม้เรียว ไม่มีครูทำหน้าเคร่งขรึมเรียบเฉย ไม่มีกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายหรือทรงผม แต่มีห้องโถงเป็นลานสำหรับร้อง เล่น ปั้น หรือวาดภาพ  มีสนามหญ้าสีเขียว มีเพื่อนร่วมห้องทั้งเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ หรือนักเรียนจากเมืองใหญ่ และมีครูทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีจุดร่วมคือความเชื่อว่าผู้ใหญ่คือผู้สนับสนุนเด็กให้เติบโตสู่โลกกว้างอย่างมั่นคง

             โรงเรียนในภูเขา เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนกิจกรรมที่ไม่เพียงส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยพัฒนา EF การคิดวิเคราะห์ และความยืดหยุ่นทางอารมณ์ เทคโนโลยีไม่ใช่ศัตรู แต่ไม่ควรแทนที่โลกจริงทั้งหมด การสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีกับประสบการณ์ตรง คือหัวใจของการออกแบบการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

 

ความเชื่อข้อที่ 7: เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีแรงจูงใจจากภายนอกเท่านั้น
             
ความเข้าใจแบบเดิมเชื่อว่า เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้รับรางวัล เช่น สติ๊กเกอร์ ของเล่น หรือคำชม และจะไม่ขยันหากไม่มีแรงกระตุ้นจากภายนอก แต่แนวคิดทางจิตวิทยาการเรียนรู้ชี้ว่า แรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) มีอิทธิพลมากกว่าและยั่งยืนกว่า เช่น ความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น ความท้าทาย และความภาคภูมิใจจากการทำสิ่งใดสำเร็จด้วยตัวเอง

             อิสรภาพในการเรียนรู้: เครื่องมือสร้างแรงจูงใจจากภายใน หลากหลายกิจกรรมของภาคีเครือข่ายทั่วประเทศที่เข้าร่วมกับ ปิดเทอมสร้างสรรค์  เปิดโอกาสให้เด็กเลือกกิจกรรมที่เขาสนใจเอง ตั้งคำถามเอง และทดลองจนกว่าจะได้คำตอบ เมื่อเด็กมีอิสระในการเลือก พวกเขาจะทุ่มเทและตั้งใจเรียนรู้โดยไม่ต้องมี “รางวัล” มาล่อใจ เพราะแรงผลักดันนั้นเกิดจากภายใน การสร้างแรงจูงใจจากภายใน คือการเชื่อว่าเด็ก “เลือกเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง” และบทบาทของสำนัก 4 คือการออกแบบพื้นที่ให้เด็กอยากเรียนรู้โดยไม่ต้องบังคับ

 

             ภาคีเครือข่ายจึงสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง
บทเรียนจากการทำงานของภาคีเครือข่ายที่สำนัก 4 ให้การสนับสนุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนข้อค้นพบสำคัญว่า “การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของเด็กให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับพัฒนาการ ไม่สามารถทำได้ลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีในระดับพื้นที่”

บทบาทของภาคี: ผู้ลงมือสร้าง “พื้นที่เรียนรู้” จริง
             
• ภาคีคือกลไกสำคัญที่นำแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ
             • ภาคีเข้าใจบริบทของพื้นที่ วัฒนธรรมท้องถิ่น และความต้องการของเด็กในแต่ละชุมชน
             • ภาคีทำงานร่วมกับครู ผู้ปกครอง อปท. และภาคประชาชน สร้างความเปลี่ยนแปลงจากฐานราก

บทบาทของสำนัก 4: ผู้เชื่อมโยง สนับสนุน และเสริมพลัง
             
• ให้การสนับสนุนทั้งเชิงวิชาการและงบประมาณแก่ภาคี
             • สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่
             • ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่สนับสนุนการเล่นและการเรียนรู้แบบองค์รวม

             หากเรายังยึดติดกับความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับเด็ก เช่น เด็กต้องนิ่งถึงจะเรียนรู้ได้, การเล่นไม่สำคัญ, ความฉลาดวัดได้จากคะแนน การออกแบบระบบเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กย่อมไม่ตอบโจทย์ และอาจทำให้เด็กจำนวนมากพลาดโอกาสในการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ

             แต่หากเราเปิดใจเรียนรู้ใหม่ เห็นคุณค่าของการเล่น การลงมือทำ การตั้งคำถาม และการมีอิสรภาพของเด็ก เราจะเริ่มออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่เชื่อในเด็กมากขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code