ทำความรู้จักอาการ “หัวร้อน” ของเด็กเล่นเกม

การเล่นเกม เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนในสังคมปัจจุบันไปแล้ว เราพบคนทุกวัยที่ชอบหยิบโทรศัพท์มือถือมาเล่นเกม เพื่อฆ่าเวลา

แต่สำหรับเด็ก การเล่นเกมสามารถเป็นได้ทั้งการฝึกสมอง ประลองปัญญา หรือเป็นการก่อความเครียดที่เป็นพิษ เนื่องจากเด็กยังไม่มีวิจารณญาณที่จะเลือกว่าควรเล่นแบบไหน หรือเล่นนานเท่าใด

เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องมีความรู้และเข้าใจถึงเทคนิคกลโกงต่างๆ ที่แฝงมาในเกมออนไลน์ที่ลูกหลานชอบเล่น เพื่อช่วยสอดส่องและเตือนไม่ให้เด็กติดเกม หรือต้องเสียเงินไปกับการ “เติมเกม”

การ “เติมเกม” คือ การจ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับบางอย่างในเกม ในยุคแรกเริ่ม การจะเข้าเล่นเกม ออนไลน์ได้ ผู้เล่นทุกคนจะต้องจ่ายเพื่อ “เติมชั่วโมงในการเข้าเล่นเกม” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นผู้เล่นสามารถ “จ่ายเพิ่มเพื่อเติมความสามารถในเกม” ซึ่งการเติมเงินเพื่อใช้ซื้ออุปกรณ์พิเศษที่จะทำให้มีความสามารถเพิ่มนั้น ต้องใช้บัตรเติมเงินโทรศัพท์แทนการจ่ายตรงๆ จึงทำให้เกิดคำว่า “เทพทรู” ตามมา

ในยุคต่อมา ผู้ผลิตและให้บริการเกมเปลี่ยนวิธีในการทำกำไรจากตัวเกม ด้วยการเปิดให้ผู้เล่นเข้าเล่นเกมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (Free to play – F2P) โดยมีทางเลือกให้สนับสนุนตัวเกมด้วยการจ่ายเพิ่มตามความสมัครใจ แลกกับความสามารถพิเศษ, ชุดแต่งกาย, อุปกรณ์เสริม ผู้เล่นเกมมองว่าการจ่ายในบางเกมนั้นคุ้มค่า เพราะอาจนำมาสู่ชัยชนะ หรือได้รับการจัดลำดับให้เป็นที่ 1 ในเกม (Pay to win – P2W)

ค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากอุปกรณ์การเล่นเกม ราคาของตัวเกมที่ต้องซื้อ (Pay to Play)  สร้างความสงสัยไปจนถึงความกังวลให้กับผู้ปกครองที่บุตรหลานขอ “เติมเกม” อยู่บ่อย ๆ

เนื่องจากกลยุทธ์ของการทำเงินจากเกมซับซ้อนมากกว่าการให้จ่ายแล้วได้ของดี ๆ  ชุดสวย ๆ เท่ ๆ เพราะการจ่ายเงินด้วยการเติมเงินหลักสิบ ร้อย พัน หมื่น เพื่อได้รับสิ่งต่าง ๆ นั้นเรียบง่ายเกินไป “กล่องสุ่ม” (Loot Box)  หรือ“กาชา” (Gacha) จึงถือกำเนิดขึ้น

กล่องสุ่ม และ กาชา คือระบบการสุ่มไอเทมโดยอาศัยความเป็นไปได้และความน่าจะเป็นผสมกัน หลัก ๆ แล้วเราสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทได้ตามชื่อคือ

1. กล่องสุ่ม – เมื่อจ่ายเพื่อแลกรับกล่องสุ่ม ระบบของเกม จะทำการสุ่มสิ่งที่อยู่ในกล่องให้ตามความเป็นไปได้ เช่น มีความเป็นไปได้ที่ผู้เล่นจะได้รับชุดหายากระดับสูงที่ 1% ถ้าแลกกล่องมาทั้งหมด 100 กล่อง อาจไม่มีกล่องใดที่มีชุดหายากปรากฏอยู่เลย เนื่องจากระบบจะคิดทีละ 1% ในแต่ละกล่อง หรืออาจได้รับในทุกกล่องหากผู้เล่น “โชคดี” คล้ายการซื้อล็อตเตอร์รี่ ถูกทุกงวดก็คงมี ไม่ถูกเลยสักทีก็พบได้บ่อย

2. กาชา – เมื่อจ่ายเพื่อรับกาชา ระบบของเกมส์จะส่งกาชาให้กับผู้เล่นจากจำนวนกาชาที่มีอยู่ทั้งหมดในระบบ เช่น มีกาชาทั้งหมด 100 ลูก/ใบ/กล่อง ใน 100 ลูกนี้ มีชุดระดับหายากอยู่ 1 ชุด คิดเป็น 1% หากผู้เล่นแลกกาชามาทั้งระบบ 100 ลูก/ใบ/กล่อง ผู้เล่นจะได้รับชุดระดับหายากจำนวน 1 ชุดอย่างแน่นอน และไม่สามารถได้รับมากกว่า 1 ชุด จนกว่าจะมีการ “รีเซ็ต” ระบบกาชาให้ครบจำนวน 100 ใหม่อีกครั้ง ระบบนี้คือระบบเดียวกับการที่เราไปซื้อบัตร “สอยดาว” ตามงานวัด งานกาชาดนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในเกมที่สร้างระบบไว้อย่างยุติธรรมนั้น ผู้เล่นที่เล่นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ยังสามารถมีความสามารถหรืออุปกรณ์ได้ทัดเทียมกับผู้ที่จ่ายเพิ่มได้ด้วยการใช้เวลาในการเล่นให้มากขึ้น หรือบางกรณี การจ่ายเพิ่มนั้นไม่ส่งผลให้ได้เปรียบในการแข่งขันใดๆ มีผลเพียงรูปลักษณ์ที่ปรากฏแทนผู้เล่นในเกม (Avatar) เท่านั้น

ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจเกมที่ลูกหลานเล่นว่าเป็นเกมประเภทใด ถ้าเป็นแบบเล่นฟรี เน้นใช้เวลา พัฒนาฝีมือ ตัวเกมส่วนใหญ่จะมีระบบ “เติมเกม” ที่ทำให้เข้าถึงตัวละครใหม่ๆ ได้ก่อนปล่อยให้เล่นฟรี ประกอบกับมีชุดแต่งกายที่แตกต่างจากเมื่อเติมเกม (ใครเล่นโปเกม่อน จะนึกออกว่าถ้าอยากได้ชุดสวยๆ เครื่องประดับเก๋ๆ ต้องแลกเหรียญซื้อ) ระบบที่ว่านี้มีความปลอดภัยในแง่ของงบประมาณการเติมเกมในแต่ละครั้ง

สำหรับเกมแบบมี “กาชา” ถ้าอดทนสะสมเวลาและเงินในเกมไว้ ไม่นานตัวละครก็จะเก่งได้ไม่แพ้ใคร

สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ ระบบของเกมที่เน้นให้มีแต่ “กล่องสุ่ม”  เพราะซื้อมาสุ่มเท่าไหร่ก็อาจไม่ได้อุปกรณ์ (ITEM) (อารมณ์เหมือนที่ผู้ใหญ่ชอบซื้อหวย) แต่ถ้าไม่ซื้อ ก็สู้ใครไม่ได้ ระบบแบบนี้ ซื้อเครื่องเล่น ซื้อเกมแล้ว ยังต้องซื้อความสามารถเพิ่มอีก

การทำความเข้าใจและแยกแยะสิ่งต่างๆ ทั้งรูปแบบของเกมและการเติมเกมอาจต้องใช้เวลา ก่อนให้เงินลูกหลานเพื่อไป “เติมเกม” พ่อแม่ ผู้ปกครองควรถามถึงชื่อเกมที่เด็กเล่น เพื่อนำไปค้นหาในเว็บไซต์ หากมีเวลา ลองทดลองเล่น หรือศึกษาจากยูทูป เฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับเกม หรือตามเว็บที่มีคนมารีวิว การที่ผู้ปกครองลงมือทำความรู้จักเกมด้วยการเล่นไปกับเด็ก ถือเป็นการใช้เวลาร่วมกันที่คุ้มค่า เพราะช่วยให้ผู้ใหญ่เข้าใจทั้งตัวเกมและเด็กๆ ได้ดียิ่งขึ้น

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ