ถ้าไม่รู้จะคุยอะไรดี แต่อยากรู้จักใครบางคนให้มากขึ้น งั้นใช้ “การ์ดเชื่อมใจ” สิ
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง Life Education ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำหลักการจิตวิทยาเชิงบวกมาประยุกต์เป็นนวัตกรรมเพื่อทำงานร่วมกับโรงเรียนและครอบครัว เล่าถึงการทำงานเพื่อพัฒนาเครื่องมือที่รู้จักกันในชื่อ การ์ดเชื่อมใจ ว่าเริ่มขึ้นจากความพยายามในการหาคำตอบจากเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งในด้านวิชาการ เด็กวัยนี้ ต้องได้รับการเตรียมความพร้อม เพราะพัฒนาการของเด็กในช่วงนี้มีความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านและเปลี่ยนเร็ว ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงวัยที่เด็กกำลังค้นหาตัวเอง
ในการทำงานของ Famskool ซึ่งรับบทบาทสร้างการเรียนรู้และเสริมสร้างอุปนิสัยไปพร้อมกันได้ ผ่านชุดเครื่องมือ และกระบวนการ จึงใช้วิธีการสำรวจจากหลากหลายแง่มุม ทั้งจากวงวิชาการ และคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กในช่วงวัยนี้โดยตรง ซึ่งหนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์กับเด็กวัยนี้มานาน ก็คือ ทิชา ณ นคร หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ป้ามล ระหว่างที่ทีมงานเข้าไปขลุกอยู่กับป้ามลช่วงหนึ่ง อรุณฉัตรยังจำคำของป้ามลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งประโยคนั้นส่งผลต่อแนวคิดในการทำงานจนเกิดเป็นเครื่องมือชิ้นนี้
“ป้ามลเคยเล่าว่า ช่วงที่ทำงานกับ สหทัยมูลนิธิ ซึ่งมีระบบเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่จะเข้าไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ ระบบนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร แต่คือการพาเด็กและครอบครัวที่เด็กจะไปอยู่ด้วย มานั่งคุยกันอย่างจริงจังใน เรื่องเล็กๆ เช่น เด็กชอบกินอะไร สิ่งที่ทำในแต่ละวันแล้วให้ความรู้สึกดี มีอะไรบ้าง นั่นก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน”
เมื่อได้ฟังแล้ว เขาก็นึกย้อนถึงบรรยากาศของการพูดคุย เรื่องเล็กๆ ในห้องเรียนว่า แทบจะไม่มีพื้นที่เอื้อให้เกิดการคุยได้เลย ครูเองก็ไม่คุ้นกับการชวนเด็กคุยเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่น อรุณฉัตรพบว่าครูมีคำถามไม่พอที่จะใช้เพื่อทำความรู้จักเด็กของครู จึงมักได้ยินแต่ประโยคว่า “ไม่รู้จะคุยอะไรกันดี”
นี่เองคือที่มาของการออกแบบชุดคำถามที่อยู่ใน การ์ดเชื่อมใจ เพื่อให้คำถามเหล่านี้เป็นตัวช่วยในเวลาที่ครูอยากคุยกับเด็ก หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวอยากคุยกับลูกหลานก็ใช้ได้ แม้แต่เด็กชวนเด็กคุยเองก็ได้เช่นกัน
คำถามที่อยู่ในการ์ดแต่ละใบนั้น จะไม่ได้มีเพียงคำถามเดียว ที่ถามแล้วจบ แต่คำถามจะมีความต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงความใส่ใจ และนี่เองคือมาของการตั้งชื่อเครื่องมือชิ้นนี้ว่า การ์ดเชื่อมใจ
การ์ดเชื่อมใจ ประกอบด้วยชุดคำถาม 7 สี แต่ละสีจะใช้สำหรับการคุยกับคนต่างกลุ่มกัน เช่น สีเขียวอ่อน ใช้คุยกับทุกคน เป็นคำถามทั่วไป มีทั้งหมด 20 ใบ แต่ละใบจะมีคำถามสามคำถาม สีฟ้า เป็นการ์ดสำหรับครูใช้คุยกับครูด้วยกัน มีคำถาม 7 ใบ และแต่ละใบก็มีคำถามสามคำถาม เป็นต้น
อรุณฉัตรเล่าถึงวิธีการใช้การ์ดเชื่อมใจว่า ไม่ใช่แค่ใช้ถามคนอื่นเท่านั้น แต่เรายังสามารถใช้ถามตัวเองได้ด้วย ซึ่งการที่เราแลกเปลี่ยนกับคนที่กำลังคุยด้วยคำถามเดียวกัน ทำให้เราค่อยๆ รู้จักทั้งตัวองและคนที่กำลังคุยอยู่ด้วย บทสนทนาจึงเกิดความเชื่อมโยงกัน
“วิธีการใช้ไม่ได้มีกฎ กติกาใดๆ สามารถเลือกใช้การ์ดเพื่อคุยกับคนที่เราอยากคุยด้วยในเวลาไหน ที่ไหนก็ได้ เพื่อให้เกิดการเปิดใจและเชื่อมใจกันและกัน ซึ่งหลายครั้ง เราพบว่า การใช้การ์ดเป็นตัวเปิดการสนทนา ทำให้การพูดคุยมีความเป็นกันเอง ครูเริ่มฝึกใช้คำถามที่ทำให้เด็กกล้าเข้าหา เพราะไม่ได้มุ่งจะถามเพื่อเอาผลลัพธ์แค่ว่า ส่งการบ้านหรือยัง ทำงานที่สั่งไว้ได้ไหม แล้วพอคุยเรื่องเล็กๆ เหล่านี้บ่อยๆ หลายคนเริ่มจับสัญญาณบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับคนที่สนทนาด้วย เช่น เมื่อครูคุยกับเด็กผ่านคำถามในการ์ด แล้วบรรยากาศเกิดความสะเทือนใจขึ้น ซึ่งสัญญาณพวกนี้ ก็จะช่วยนำทางครูให้เข้าหาเด็ก และให้การช่วยเหลือเด็กในขั้นต่อไปได้ เราจึงใช้คำว่า เปิดใจ + เชื่อมใจ ซึ่งเมื่อเกิดสองอย่างนี้แล้ว ก็จะนำไปสู่การ ปรับใจ แล้วสุดท้ายการคุยก็นำไปสู่ความรู้สึกอุ่นใจขึ้น ซึ่งคำว่า อุ่นใจ ในที่นี้ ก็คือ sense of belonging เป็นความรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ตามลำพัง เรามีความเชื่อมโยงกับคนที่เรากำลังคุยด้วย มีคนรับรู้ความเป็นตัวเรา ก็ทำให้ไม่เกิดความห่างเกินกัน”
สนใจอยากลองใช้การ์ดเชื่อมใจในรูปแบบออนไลน์ สามารถเข้าไปเล่นได้ที่ https://famskool.com/connection-card
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง Life Education
การ์ดเชื่อมใจ แบบออนไลน์
การ์ดเชื่อมใจ ในรูปแบบกล่อง