ถึงเวลาสานพลังเพื่อระบบคุ้มครองเด็กใน กทม. ได้ทำงานอย่างไร้รอยต่อ
ตัวแทนจากแต่ละภาคีเครือข่ายร่วมงานเวทีสานพลังฯ
ประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเรื่องการขับเคลื่อนงานภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และการขับเคลื่อนงานดังกล่าวก็ยังคงเดินหน้ามาจนถึงปัจจุบันด้วยความร่วมมือทั้งจาก หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาคประชาชน และเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง พร้อมปรับปรุงแผนการดำเนินงานให้เข้ากับยุคสมัย และบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป
สารจากภาคีและผู้ทำงานด้านการคุ้มครองเด็ก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะเด็กและเยาวชน จึงร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กรุงเทพมหานคร , มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงจัดเวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “สานพลังผู้ทำงานด้านการคุ้มครองและความปลอดภัยในเด็ก” หรือ BMA Connect Circle for Young People (BMA-CCYP) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน ชวนคิด ชวนคุยระหว่างภาคีเครือข่ายต่างๆ
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวถึงการจัดเวทีในครั้งนี้ว่า “สสส. ขับเคลื่อนงานด้านคุ้มครองและความปลอดภัยและเยาวชน โดยเน้นครอบครัวเปราะบาง ที่ผ่านมาพบปัญหาการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงความรุนแรง จึงสร้างกลไกระดับชุมชนเพื่อเข้าถึงเด็กและครอบครัว โดยตั้งเป้าประสานการทำงานของทุกภาคส่วนแบบไร้รอยต่อ และจัดประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการทำงาน และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสสส. กล่าวถึงการจัดเวทีสานพลัง
อภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้กล่าวถึงการดำเนินกิจการด้านการคุ้มครองเด้กของกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่า “กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ดำเนินการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามสิทธิเด็กข้อ 19 กำหนดให้มีมาตรฐานการคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงทุกประเภทและกำหนดให้มีกฎหมายในการดูแลด้านสวัสดิการและการบริการคุ้มครอง จึงได้ขับเคลื่อนงานโดยคำนึงถึงการคุ้มครองเด็กให้มีชีวิตรอดปลอดภัย ได้รับการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเด็กได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนเองด้วย”
ทั้งนี้กลไกการคุ้มครองเด็กมีหลายระดับทั้ง คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ , คณะกรรมการคุ้มครองเด็กทุกจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่เชื่อมโยงการทำงานเข้ากับภาคีเครือข่าย
ทิชา ณ นคร ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หน่วยงานราชการในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ผู้ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมายาวนานได้กล่าวถึงประเด็นการคุ้มครองเด็กดังนี้
ทิชา ณ นคร กับกล่าวกล่าวถึงการทำงานอย่างไร้รอยต่อ
“ถ้าความร่วมมือของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งเกิดขึ้น สามารถก้าวข้ามความสำเร็จแบบทำพิธีกรรมที่เรียบร้อยสวยงาม แต่เปราะบาง สู่การทำจริงทำต่อเนื่อง คงเส้นคงวา ทำแบบมีพลวัต ทำแบบทะลุขีดจำกัด ทำบนหลักคิดพลังอำนาจร่วม ทำแบบไร้รอยต่อ ภายใต้นโยบายสาธารณะเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว กว่า 20 ล้านครอบครัวอย่างมีวิสัยทัศน์ไม่ใช่วาทกรรม ที่สำคัญเปี่ยมด้วยความเชื่อที่หนักแน่นและศรัทธาที่แรงกล้าต่อมนุษย์ที่เป็นเด็กนั่นแหละคือคำตอบที่พวกเรากำลังตามหา” ทิชากล่าว
นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากภาคีเครือข่ายขึ้นมาร่วมปาฐกถาบนเวทีท่านอื่นๆ อาทิ นางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ วรางคณา มุทุมล ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) และ ผู้แทนเด็กและเยาวชน จากกลุ่ม Student Reflect สภาเมืองคนรุ่นใหม่
กษมา สัตยาหุรักษ์ นักวิชาการอิสระ ได้เปิดตัวผลการศึกษาข้อมูลทรัพยากร กทม. ด้านการคุ้มครองเด็ก พร้อมนำเสนอข้อเสนอในการบริหารจัดการทรัพยากร กทม.ด้านการคุ้มครองเด็ก 8 ข้อดังนี้
1. มีคู่มือแนวทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
2. มีบุคลากรที่เพียงพอ มีความปลอดภัยในการทำงาน
3. ผู้ปฏิบัติงานได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ
4. มีเครือข่ายการดำเนินงานระดับเขต มีผู้อำนวยการเขต เป็นที่ปรึกษาได้
5. ส่วนกลางมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อน ไม่เพิ่มภาระในระบบงาน
6. มีการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน
7. มีศูนย์พักพิง ช่วยเหลือ ผู้รับบริการที่เป็นของ กทม.เอง
8. มีระบบฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบันเสมอ มีหน่วยงานกลางสามารถส่งต่อ-คืนข้อมูลระหว่างในหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
เสียงจากเวทีแลกเปลี่ยน ต่อการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก
การแบ่งกลุ่มเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของภาคีเครือข่าย ออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กใน กทม. ด้วยการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างความร่วมมือในเครือข่ายคนทำงานด้านคุ้มครองเด็ก เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบ หรือกลไกการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ส่งต่อเด็กใน กทม. โดยมีรศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้ร่วมรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายด้วย
โดยการประชุมระดมสมองแบ่งเป็น 5 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 การเก็บข้อมูลและคัดกรอง (งานเชิงรุก)
กลุ่มที่ 2 ช่องทางการรับเรื่อง (งานเชิงรับ)
กลุ่มที่ 3 ระบบช่วยเหลือและส่งต่อเคส
กลุ่มที่ 4 ระบบติดตามการให้ความช่วยเหลือ ฐานข้อมูล และการรายงานผล
กลุ่มที่ 5 ระบบคุ้มครองเด็กในสถานศึกษา
โดยแต่ละกลุ่มได้รับคำถามที่เพื่อการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มย่อย คือ สภาพการดำเนินงานในปัจจุบัน ,สถานการณ์ปัญหา ข้อจำกัดที่เกิดขึ้น และแนวทางในการพัฒนาให้ดีขึ้น
เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในเวที
จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในกลุ่มย่อย นำไปสู่การนำเสนอข้อมูลของแต่ละกลุ่ม พร้อมเสนอแนวทางการทำงานในหลายข้อ อาทิ นำเสนอให้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการคุ้มครองเด็ก การเพิ่มบ้านพักฉุกเฉินในกรุงเทพ การพัฒนากระบวนการส่งต่อและติดตามเคสที่ได้รับการสงเคราะห์ เพิ่มการทำงานเชิงป้องกันมากขึ้น เสริมทักษะชีวิตให้กับเด็กและครอบครัว การเพิ่มงบประมาณสำหรับบุคลากรที่ทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ไปจนถึงการสร้างหน่วยรับฟังปัญหาเด็กในสถานศึกษาด้วย
เสียงสะท้อนของภาคีเครือข่าย
ตัวแทนจากแต่ละกลุ่มเตรียมนำเสนอข้อมูล
ผู้บริหาร กทม.ร่วมรับฟัง พร้อมเดินหน้าพัฒนางานคุ้มครองเด็ก
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนจาก กทม.ที่ได้ร่วมรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการด้านการคุ้มครองเด็ก แต่ยังคงต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีขีดความสามารถ ทันสมัย และคล่องตัวยิ่งขึ้น
“ความท้าทายของกรุงเทพมหานคร คือ เราพยายามจะไร้รอยต่อในทุกเรื่อง แต่ยังมีรอยต่อในความไร้รอยต่อ การทำงานมีความซ้ำซ้อนและไม่ถูกจัดระบบ จึงเป็นโจทย์ที่ได้จากวันนี้ว่าเราจะกางงานที่ภาคีเครือข่ายทำอยู่แล้วออกมาดู สิ่งใดที่อยู่ในอำนาจของ กทม. ก็พร้อมจะแก้กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อการทำงานที่ง่ายขึ้น การไม่สร้างบาดแผลให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับความบอบช้ำรอบ 2 จากการติดต่อหน่วยงานต่างๆ การเพิ่มนักจิตวิทยา การคัดกรองปัญหาการคุ้มครองเด็กโดยผู้เชี่ยวชาญ เราจะทำให้ Service Journey มีความชัดเจนขึ้น เพื่อทำให้กระบวนการคุ้มครองเด็กเกิดขึ้นชัดเจน รวดเร็ว และเต็มรูปแบบ” รศ.ดร.ทวิดากล่าวทิ้งท้าย
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้ร่วมรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่าย
การเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายแลกเปลี่ยนมุมมอง