ดอกผลแห่งความสำเร็จห้องเรียน “เน็ตป๊าม้า” ภารกิจส่งเสริมพ่อแม่กว่าหมื่นรายเลี้ยงลูกเชิงบวก

             ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาด้านเด็กและเยาวชนในทุกยุคสมัย เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่แม้จำนวนเด็กเกิดน้อยลง แต่การมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีคุณภาพก็ยังต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครอบครัว

              โครงการพัฒนาโปรแกรมสอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กสำหรับผู้ปกครองผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือหลักสูตรเน็ตป๊าม้า (Net PAMA) จึงเกิดขึ้น โดยเป็นหลักสูตรออนไลน์ สำหรับพ่อแม่ที่สนใจเรียนรู้เทคนิคเชิงบวกในการเลี้ยงลูก พัฒนาโดยทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  ที่มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเลี้ยงลูกเชิงบวก กับเนื้อหา อาทิ ปัจจัยพื้นฐานในการปรับพฤติกรรมเด็ก ทักษะการสื่อสาร เทคนิคการชม เทคนิคการให้รางวัล เทคนิคการลงโทษ และเทคนิคการทำตารางคะแนน เป็นต้น โดยหลังจากเปิดอบมพ่อแม่ ผู้ปกครองแล้ว ก็มีการเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเป็นกระบวนกร เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปขยายผลเป็น “ห้องเรียนพ่อแม่” จัดกิจกรรมการเลี้ยงลูกเชิงบวกในกลุ่มหรือชุมชนของตนเองต่อไป

             ล่าสุด โครงการฯ จัดประชุมวิชาการเน็ตป๊ามา ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องปัจจัยความสำเร็จในการจัดตั้งห้องเรียนเน็ตป๊าม้าขึ้น โดยมีกระบวนกรผู้เข้าร่วมโครงการจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

             ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการดังกล่าวว่า “หลักสูตรเน็ตป๊าม้า สามารถพัฒนาองค์ความรู้ได้ในระดับสากล มีการลงพื้นที่รับรู้ถึงความหลากหลายความแตกต่างของครอบครัว ชวนผู้คนจากหลากหลายแวดวงเข้ามาร่วมทํางาน ตรงกับเป้าหมายของ สสส. ที่สนับสนุนให้ภาคีความร่วมมือใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของตัวเองทำงานเพื่อเด็กและครอบครัว ส่งผลให้ห้องเรียนเน็ตป๊าม้ากระจายลงสู่ทุกครัวเรือน เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการถูกเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ”

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

 

             ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าโครงการพัฒนาและขยายห้องเรียนเน็ตป๊าม้า ได้นำเสนอผลงานโครงการดังกล่าวว่านับตั้งแต่การเปิดโครงการ ปัจจุบันเกิดการขยายห้องเรียนเน็ตป๊าม้าโดยนักกระบวนกรที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น นำห้องเรียนเน็ตป๊าม้าไปประยุกต์จัดการสอนกับบริบทพื้นที่ทั้ง โรงพยาบาล ชุมชน สถานศึกษา สถานพินิจ ศาสนสถาน มูลนิธิ สถานรับเลี้ยงเด็ก บ้านพักเด็กและครอบครัว และอื่นๆ รวม 41 ห้องเรียน ใน 27 จังหวัด หรือ 13 เขตสุขภาพ

ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าโครงการเน็ตป๊าม้า

 

             ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งพ่อแม่ผู้ปครองประเมินตนเอง ประเมินพฤติกรรมของบุตรหลาน และบุตรหลานประเมินพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย พบว่ากลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง มีความพึงพอใจในการอบรมถึง 66.36 % มีความมั่นใจในการนำไปใช้งาน 94.53% และพฤติกรรมของลูกดีขึ้น 90.03% ขณะที่เด็กเองก็มีอัตราของ Self – Esteem เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากการปรับวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครอง

บรรยากาศงานประชุม

 

ล้อมวงเรื่องเล่าจากกระบวนกร “ห้องเรียนพ่อแม่”

             ภายในงานดังกล่าว ยังมีการจัดวงเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการประเด็นปัจจัยความสำเร็จในการจัดห้องเรียนเน็ตป๊าม้า เพื่อให้กระบวนกรจากแต่ละภาคส่วน อาทิ ภาคการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงหรือกรมต่างๆ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความท้าทาย และผลความสำเร็จ เพื่อถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน

             กีรติ ลิ่มสืบเชื้อ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เล่าถึงการดำเนินโครงการห้องเรียนพ่อแม่ว่า ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากการสื่อสารเชิงรุก ทั้งการตั้งป้ายบริเวณจุดประชาสัมพันธ์ การแนะนำโครงการให้เพื่อนร่วมงานในองค์กรรับทราบและบอกต่อ ร่วมเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้ามาติดต่อหน่วยงานได้รู้จักโครงการ ตลอดจนการใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกิจกรรม ทำให้มีผู้สมัครเข้ามาหลักร้อยคน จากจำนวนที่ต้องการเพียง 15 คน จึงทำการคัดเลือก และจัดกิจกรรมโดยแบ่งเป็นรอบ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครอง

เสวนาปัจจัยความสำเร็จห้องเรียนป๊าม้า

 

             กิตปพนธ์ โอภาษี นักพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว จ.นครสวรรค์ กล่าวถึงความท้าทายในการดำเนินงานว่า เมื่อรับทราบข่าวประชาสัมพันธ์โครงการเน็ตป๊าม้าจึงเกิดจากความสนใจขึ้น โดยเล็งเห็นว่าห้องเรียนพ่อแม่จะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและเด็กในชุมชน จึงสมัครเข้าร่วม จากนั้นจึงได้นำเสนอโครงการต่อผู้บริหารเพื่อให้เกิดห้องเรียนพ่อแม่ในพื้นที่ โดยเชิญผู้บริหารและผู้ร่วมงานเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม จนเกิดการซึมซับ และเข้าใจบทบาทการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความอบอุ่นในครอบครัว

             โดยตนเองเป็นนักกระบวนกรหลักที่เน้นการมีส่วนร่วม รับฟัง ไม่เป็นผู้พูดเพียงฝ่ายเดียว เปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้แชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน ทำให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นพื้นที่พักใจในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ได้รับการตอบรับจากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างดี

             พลาศิณี ศรีสองเมือง ครูพัฒนาชีวิต โรงเรียนเพลินพัฒนา กรุงเทพมหานคร หนึ่งในกระบวนกรผู้ร่วมเสวนา กล่าวถึงการดำเนินงานของตนเองว่า ได้นำห้องเรียนเน็ตป๊าม้าไปดำเนินงานในโรงเรียนเพลินพัฒนา ได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองเข้าร่วมตามเป้าหมาย และมีการจัดการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวม 7 สัปดาห์ ในรูปแบบของการชวนคิด ชวนคุย ล้อมวงทำกิจกรรมร่วมกัน และมีการบ้านให้แก่ผู้ปกครองในแต่ละสัปดาห์

             ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญเกิดจากนักกระบวนกรที่ดำเนินการจัดกิจกรรมให้มีความลื่นไหล มุ่งเน้นการรับฟังอย่างมีส่วนร่วม ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พ่อแม่ผู้ปกครอง จนเกิดสัมพันธภาพที่ดีและการเรียนรู้ร่วมกัน

กิตปพนธ์ โอภาษี (ซ้าย) และ พลาศิณี ศรีสองเมือง ครูพัฒนาชีวิต โรงเรียนเพลินพัฒนา (กลาง)

 

             “ถึงแม้ห้องเรียนเน็ตป๊าม้าจะจัดการอบรมเชิงวิชาการ หรือ เชิงปฏิบัติการ แต่เราให้ความสำคัญกับสุนทรียสนทนา สร้างพื้นที่ปลอดภัย มีอิสระในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นพลังกลุ่มที่เชื่อมโยงกัน เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ผู้ปกครองได้นำองค์ความรู้ไปใช้จริง พร้อมทั้งนำกลับมาแลกเปลี่ยนผลลัพธ์กันในกลุ่ม” พลาศิณีกล่าว

             ธัญนันท์ จันทร์สวาสดิ์ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.บึงกาฬ กล่าวในเวทีว่า ในกระบวนการทำงานมีความท้าทายหลาย อาทิ การถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กพัฒนาตนเองจนสามารถเป็นกระบวนกรได้ รวมถึงเด็กที่อยู่ในบ้านพักเด็กนั้นส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่เปราะบาง อยู่ในข่ายสีแดง ซึ่งการจัดห้องเรียนเน็ตป๊าม้าได้สำเร็จนั้น เกิดจากการพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองถึงความสำคัญด้านการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อลดปัญหาพฤติกรรมในระยะยาว มีทั้งพ่อแม่วัยรุ่น และกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้ดูแลเด็ก จึงต้องมีการประยุกต์ความรู้ทางวิชาการให้เป็นการจัดกิจกรรมที่สอดแทรกความสนุกและเนื้อหาที่เข้าใจง่ายขึ้น

             “เนื้อหาใดที่เราสามารถปรับให้เป็นกิจกรรมได้ เราก็จะปรับเป็นกิจกรรมให้หมด ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกสนุกและได้ประโยชน์ เน้นการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงเด็กในชีวิตประจำวันของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้เขาเกิดความสนใจ และเข้าร่วมการเรียนกับเราตลอดหลักสูตร” ธัญนันท์กล่าว

ธัญนันท์ จันทร์สวาสดิ์ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.บึงกาฬ

 

5 กระบวนท่าความสำเร็จห้องเรียนเน็ตป๊าม้า

             โครงการเน็ตป๊าม้า เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบันได้รับการตอบรับจากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างดี มีผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมหลักสูตรกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ และยังสามารถขยายผลเข้าไปในหลายกลุ่มหรือชุมชน จนสรุปปัจจัยความสำเร็จออกมาเป็น 5 ประการดังนี้
             1. กระบวนกรมีทัศนคติที่ดี มีความสนใจงานด้านครอบครัว มีทักษะที่ดีในการทำกลุ่มและประสบการณ์ในการทำงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว
             2. ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน และเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่
             3. มีหลักสูตรการอบรมที่เข้มข้น มีมาตรฐาน และมีการติดตามจาก Supervisor
             4. มีเครื่องมือ สื่อ และกิจกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของกลุ่มหรือชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจง่าย ตลอดจนนำไปใช้ได้จริง
             5. มีทุนสนับสนุน โดยแรกเริ่มมีทุนให้กับผู้ดำเนินโครงการนำไปขยายผลด้วยงบประมาณ 20,000 จากนั้นเกิดการขยายผลต่อในรูปแบบของการบรรจุเป็นกิจกรรมภายในหน่วยงานที่มีงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว หรือการขอทุนจากโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม ที่ทำให้กิจกรรมเกิดความยั่งยืนขึ้น
 

             ในเวที จึงได้มีการมอบรางวัล “Excellence Net PAMA Facilitator Award” (PAMA-FA Award) ให้กับกระบวนกรที่มีผลงานโดดเด่น ทั้งในแง่การช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ รางวัลสำหรับผู้ที่มีทักษะการเป็นกระบวนกรดีเด่น และรางวัลประเภททีมทำงาน ดีเด่นด้วยเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กระบวนกรที่ดำเนินโครงการได้อย่างยอดเยี่ยม

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ