งานวิจัยล่าสุดพบพ่อแม่ที่เข้มงวดกับลูกเกินไป อาจส่งผลให้ลูกมีปัญหาเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเปิดเผยว่า พ่อแม่ประเภทที่ดุและควบคุมลูกวัยรุ่นอย่างเข้มงวด อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและความสำเร็จทางการศึกษาเมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยผลการวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Child Development เน้นการศึกษาติดตามผลกระทบระยะยาวต่อวัยรุ่นที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่เข้มงวดและปกป้องมากเกินไป

“พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู รวมถึงแพทย์ควรตระหนักว่าการที่พ่อแม่พยายามควบคุมเด็กวัยรุ่นอาจขวางกั้นพัฒนาการของเด็กได้ วิธีการเลี้ยงดูเช่นนี้ไม่ได้มีผลแค่ฉุดรั้งพัฒนาการของวัยรุ่นเป็นการชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการพึ่งพาตัวเองในช่วงเวลาสำคัญ” เอมิลี่ โลบ นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียและหัวหน้าคณะวิจัยกล่าว

เป้าหมายของการวิจัย

การเลี้ยงดูเด็กเป็นความรับผิดชอบที่สาหัสหนักหนา แต่การควบคุมไปถึงจิตใจอาจมีผลเสียต่อเด็กเมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ได้ พ่อแม่ที่ปกป้องลูกเกินเหตุ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “พ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์” (บินอยู่เหนือหัวลูกตลอดเวลา) และแม่ที่เข้มงวดมากๆ ซึ่งมักเรียกว่า “แม่เสือ” กลุ่มนี้คือพ่อแม่ประเภทที่ชอบควบคุมลูกและพยายามจัดการทุกเรื่องแทนลูก

เป้าหมายของการวิจัยนี้จึงต้องการศึกษาผลระยะยาวของการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ควบคุมวัยรุ่นด้านจิตวิทยาว่าจะติดตัวไปเมื่อวัยรุ่นโตเป็นผู้ใหญ่อย่างไร

ผลการวิจัย

คณะศึกษาได้ข้อสรุปว่าพ่อแม่ที่พยายามควบคุมลูกด้วยวิธีรุกล้ำชีวิตส่วนตัว ต่อให้มีความตั้งใจดีก็ตาม อาจจะเป็นการใช้วิธีที่ผิด เพราะจากการศึกษาพบว่าเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ใช้วิธีเช่นนี้มีปัญหาในระยะยาว รวมถึงมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ ผลการเรียนแย่ลง เนื่องจากโดนบั่นทอนไม่ให้มีความมั่นใจ ส่งผลให้ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

ผลการวิจัยเปิดเผยว่าคนที่เติบโตมาภายใต้ครอบครัวที่พ่อแม่ควบคุมความประพฤติของตนอย่างเข้มงวดในตอนที่อายุ 13 มีความเกี่ยวพันกับการมีความรักที่ประคับประคองกันน้อยกว่าในผู้ที่มีคนรักในช่วงอายุ 27 ปี

ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นด้วยว่าลูกหลานที่ผู้ปกครองควบคุมชีวิตมากเกินไปมีโอกาสมีคนรักน้อยกว่าเมื่ออายุ 32 ปี และประสบความสำเร็จทางการศึกษาน้อยกว่าเมื่ออายุเท่ากัน ช่วงอายุที่มีผลมากที่สุดที่พ่อแม่จะเริ่มควบคุมลูกคือระหว่าง 15 ถึง 16 ปี ตามผลการวิจัย วัยรุ่นเหล่านี้ยังมีจิตใจที่เติบโตน้อยกว่า และเป็นที่รักของเพื่อนๆ น้อยกว่า 

“ต่อให้ผู้ปกครองพยายามแนะแนวทางให้ลูกๆ ตลอดเวลา เพื่อหวังให้ลูกประสบความสำเร็จ แต่การเลี้ยงดูเด็กวัยรุ่นอย่างควบคุมเกินไปก็มีแนวโน้มจะขัดขวางพัฒนาการในขั้นพื้นฐานที่สุด ซึ่งยากต่อการเยียวยา” โจเซฟ อัลเลน ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียและผู้ร่วมวิจัยกล่าว

วิธีการวิจัย

ก่อนจะได้ข้อสรุปดังกล่าว คณะวิจัยทำการศึกษาผู้คนจำนวน 184 คน อายุระหว่าง 13 ถึง 32 ปี จากหลากหลายภูมิหลังเศรษฐกิจสังคม โดยแบ่งเป็นกลุ่มจำนวนเท่าๆ กันตามเพศ และใช้วิธีให้ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับประสบการณ์ในการถูกพ่อแม่ควบคุมสมัยเป็นวัยรุ่น โดยผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับคำถามเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง พ่อแม่เป็นอย่างไร ไปจนถึงสถานะความสัมพันธ์ รวมถึงความสำเร็จด้านการศึกษา

นอกจากนั้น คณะศึกษาวิจัยยังดูวิดีโอของผู้เข้าร่วมวิจัยว่าแต่ละคนมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนสมัยเด็ก และวิดีโอของพวกเขากับคู่รักในปัจจุบัน เพื่อนๆ ของผู้เข้าร่วมวิจัยยังได้รับคำถามด้วยว่าผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นที่รักของเพื่อนๆ สมัยเด็กส่วนใหญ่หรือไม่

ข้อจำกัดของการวิจัย

คณะผู้วิจัยยอมรับว่าการวิจัยนี้มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ระเบียบวิธีการวิจัยอาศัยการบอกเล่าของตัววัยรุ่นเองว่าพ่อแม่ควบคุมพวกเขาอย่างไร ซึ่งแปลว่าวิธีการเลี้ยงดูเป็นสิ่งที่ตีความจากความรู้สึกไม่ใช่การสังเกตการณ์ ยิ่งกว่านั้น ยังไม่ได้แสดงด้วยว่าการควบคุมด้านจิตใจของพ่อแม่เป็นต้นเหตุของปัญหาพัฒนาการ จึงควรมีการวิจัยเพิ่มเติม

แต่คณะผู้วิจัยเสนอว่าการค้นพบนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าการควบคุมด้านจิตใจจะตามมาด้วยปัญหาระยะยาวในวัยรุ่น

การวิจัยนี้สนับสนุนโดยองค์กรพัฒนามนุษย์ สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติยูนีซ เคนเนดี ชไรเวอร์

แปลและเรียบเรียงจาก https://www.news-medical.net/news/20200618/Helicopter-parenting-creates-social-and-educational-problems-later-in-life.aspx

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ