งานวิจัยชี้ “การเล่นกับพ่อ” ส่งเสริมพัฒนาการควบคุมตนเองของเด็กได้ดีขึ้น

ผู้ปกครองแต่ละคนมีความชอบต่างกันเมื่อเล่นกับเด็ก

แต่ส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ปกครองคือต้องก้าวออกไปนอกขอบเขตที่คุ้นเคย

เด็กคือคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดหากได้เล่นและมีปฏิสัมพันธ์ในแบบต่างๆ กัน

ดังเช่นงานวิจัยชิ้นนี้ที่ชี้ว่า เด็กที่พ่อมีเวลาเล่นด้วยตั้งแต่เล็ก  มีแนวโน้มควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ได้ง่ายกว่าเมื่อโตขึ้น

นักวิชาการที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ร่วมกับมูลนิธิเลโก้ รวบรวมหลักฐานที่กระจัดกระจายตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ทำความเข้าใจการเล่นกับเด็กเล็ก (อายุ 0 ถึง 3 ขวบ) ของพ่อ  เพื่อต้องการรู้ว่าการเล่นระหว่างพ่อกับลูกต่างจากวิธีที่ลูกเล่นกับแม่หรือไม่ และมีผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไร

ผลที่ได้โดยรวมมีความคล้ายคลึงกันระหว่างพ่อกับแม่ในเรื่องการเล่น  แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าพ่อจะเล่นกับลูกแบบใช้ร่างกายมากกว่า แม้กับเด็กที่อายุน้อยที่สุด โดยพ่อมักเลือกกิจกรรม เช่น จั๊กจี้ ไล่จับ หรือขี่ม้าส่งเมือง

กิจกรรมที่พ่อมักเล่นกับลูก มีแนวโน้มว่าช่วยเด็กให้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์  ส่งผลช่วยให้เด็กรู้จักการจัดการพฤติกรรมของตัวเองได้ดีขึ้น  ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นโดยเฉพาะที่โรงเรียน

พอล รามจันดานี ศาสตราจารย์ด้านการเล่นในการศึกษา พัฒนาการ และการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่า “ผลจากการเล่นระหว่างพ่อลูกอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญมากนัก เพราะการวิจัยนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ทั้งหมด แต่เด็กๆ ที่ได้มีเวลาเล่นกับพ่ออย่างพอเหมาะจะได้รับประโยชน์กันทุกคน”

ด็อกเตอร์ไคร่า ลาเวอร์ตี จากมูลนิธิเลโก้ กล่าวว่า “ในระดับนโยบาย การวิจัยชี้ว่าเราต้องการโครงสร้างสังคมที่ทำให้พ่อมีเวลาและสถานที่เล่นกับเด็กๆ ในช่วงขวบปีแรก  เช่นเดียวกับแม่ ทุกวันนี้ เราพบว่าเมื่อพ่อพาลูกไปร่วมกิจกรรมอย่างกลุ่มผู้ปกครองและเด็กเล็ก พ่อมักจะเห็นว่าตัวเองเป็นพ่อคนเดียวในกลุ่ม การเปลี่ยนผ่านเชิงวัฒนธรรมกำลังเริ่มขึ้นแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องให้มีมากกว่านี้”

เป็นที่รู้กันว่าการเล่นของเด็กกับผู้ปกครองในปีแรกๆ ของชีวิตช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคม การเรียนรู้และการสื่อสารที่จำเป็น แต่การวิจัยส่วนใหญ่เน้นไปที่แม่และเด็ก การวิจัยที่สำรวจการเล่นของพ่อและเด็กมักจะมีขนาดเล็กหรือเป็นการวิจัยข้างเคียง

“การวิจัยของเราดึงเอาทุกอย่างที่เราหาพบในหัวข้อนี้มาดูว่าสามารถสรุปบทเรียนอะไรได้หรือไม่” รามจันดานีกล่าว

วิธีการวิจัยงานชิ้นนี้ เคมบริดจ์ใช้การสำรวจข้อมูลจากงานวิจัย 78 ชิ้นระหว่างปี 1977 และ 2017 โดยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลที่นำมารวมกันเพื่อหารูปแบบว่าพ่อลูกเล่นกันบ่อยเพียงใด เล่นกันแบบไหน และมีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็กอย่างไร

โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขาพบว่าพ่อส่วนใหญ่เล่นกับลูกทุกวัน แม้แต่ในกรณีเด็กที่เล็กมากๆ แต่การเล่นของพ่อลูกมักจะใช้ร่างกายมากกว่า กับเด็กทารก อาจหมายถึงแค่การอุ้มขึ้น หรือช่วยให้ยกมือยกเท้าและออกแรงอย่างอ่อนโยน ส่วนกับเด็กวัยเตาะแตะ พ่อมักจะเลือกการเล่นที่โลดโผนอย่างเล่นไล่จับ

ในเกือบทุกการวิจัยที่สำรวจ จะมีการเกิดขึ้นคู่กันอย่างต่อเนื่องระหว่างการเล่นของพ่อลูกและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเด็กที่เกิดขึ้นตามมา เด็กที่สนุกกับการเล่นที่มีคุณภาพกับพ่อ มีแนวโน้มจะแสดงอาการไฮเปอร์แอคทีฟ หรือปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมน้อยกว่า และดูจะควบคุมความก้าวร้าวได้ดีกว่า มีโอกาสทะเลาะกับเด็กอื่นเมื่อเกิดความขัดแย้งที่โรงเรียนน้อยกว่า

เหตุผลอาจเป็นเพราะการเล่นด้วยร่างกายแบบที่พ่อชอบเหมาะจะพัฒนาทักษะด้านนี้เป็นพิเศษ

เหตุผลอาจเป็นเพราะการเล่นด้วยร่างกายแบบที่พ่อชอบเหมาะจะพัฒนาทักษะด้านนี้เป็นพิเศษ “การเล่นด้วยร่างกายทำให้เกิดสถานการณ์สนุกตื่นเต้นที่เด็กต้องใช้การควบคุมตนเอง” รามจันดานีกล่าว “อาจต้องควบคุมแรง เรียนรู้ว่าเมื่อใดที่หนักมือเกินไป หรือว่าพ่ออาจบังเอิญเหยียบเท้าลูก และลูกไม่พอใจ นั่นเป็นสภาพแวดล้อมปลอดภัยที่เด็กๆ สามารถฝึกการตอบสนองได้ ถ้าตอบสนองผิดวิธี แม้จะถูกดุ แต่ไม่ได้หมายถึงโลกจะแตก และครั้งต่อไปก็อาจจำได้ว่าต้องทำตัวแบบใหม่”

การวิจัยยังพบหลักฐานว่าการเล่นระหว่างพ่อลูกค่อยๆ เพิ่มขึ้นตลอดช่วงวัยเด็กตอนต้น จากนั้นก็ลดลงในช่วง ‘วัยเด็กตอนกลาง’ (อายุ 6 ถึง 12 ปี) อาจเป็นเพราะการเล่นโดยใช้ร่างกายช่วยให้เด็กเล็กรับมือกับโจทย์ยากที่ต้องพบเมื่อเริ่มออกไปสำรวจโลกนอกบ้าน โดยเฉพาะที่โรงเรียน

แม้การเล่นของพ่อกับลูกจะมีประโยชน์มาก แต่ผู้วิจัยก็ย้ำว่าเด็กๆ ที่อยู่กับแม่เท่านั้นก็ไม่ได้เสียเปรียบ

เรื่องหนึ่งที่คณะวิจัยชี้ให้เห็นว่ามีอยู่ในทุกผลการสำรวจคือ เราต้องทำให้การเล่นของเด็กมีความหลากหลาย และผู้เป็นแม่ก็สามารถเล่นโดยใช้ร่างกายกับเด็กเล็กได้เช่นกัน  

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ