“คลองเตยดีจัง” ตัวอย่างการออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง

                 “…ความฝันของหนูคือ.. การได้เอาทักษะนี้ไปหารายได้ เพราะหนูฝันว่าอยากมีเงินที่สามารถจ่ายค่าเทอม จ่ายค่ากินค่าใช้ในแต่ละวัน และสามารถเอาเงินนี้ช่วยที่บ้านในทุกเดือนได้…”

                 ข้อความนี้เป็นคำพูดของ “เน -ธาริณี ด้วงสังข์” วัยรุ่นคนหนึ่งที่เข้ามาเรียนรู้การใช้โปรแกรม Canva เพื่อทำงานออกแบบ ใน  Learn & Earn (Freeform Learning Project) ของกลุ่ม คลองเตยดีจัง ซึ่งเป็นหนึ่งเครือข่ายงานพื้นที่นี้ดีจัง ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว – สำนัก 4 สสส.

                 เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นและการเรียนรู้ของเด็กทุกช่วงวัย  หนึ่งในยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปี 2566 -2570  ของ สำนัก 4  จึงมุ่งเน้นการพัฒนาต้นแบบและขยายโอกาสในการเข้าถึงแห่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพใกล้บ้าน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน และด้วยเหตุนี้ คลองเตยดีจัง จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้ที่ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวให้ความสนใจในการมาเรียนรู้ เพราะที่นี่มีวิธีคิด วิธีทำ ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นต้นแบบของพื้นที่เรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสุข และความรอบรู้ด้านสุขภาวะของเด็กและเยาวชน

 

ตั้งโจทย์ผิด ก็เหมือนใช้เข็มทิศผิดทาง

จากผลักดันให้เด็กเรียนจบ เปลี่ยนเป็นให้เด็กค้นพบความต้องการของตัวเอง

                 ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง ที่เด็กๆ รวมทั้งคนทั่วไปมักเรียกเธอว่า “ครูแอ๋ม” คือผู้ถักทอก่อร่างให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “คลองเตยดีจัง” จากการเป็นครูอาสาเข้ามาทำกิจกรรมกับเด็กๆ โดยเริ่มจากนำดนตรีเข้ามาเป็นสื่อ ก่อนจะขยายออกไปเป็นการจัดเทศกาล “คลองเตยดีจัง” ที่จัดสม่ำเสมอ โดยออกแบบให้มีกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กหลากหลายวัยที่อยู่ในชุมชนรอบๆ คลองเตย ซึ่งจำนวนมากเป็นเด็กกลุ่มเปราะบาง ไม่มีทะเบียนบ้าน เรียนไม่จบ อาศัยอยู่ในสภาพที่แวดล้อมไปด้วยความเสี่ยงมากมายที่สำคัญที่สุดคือ ยาเสพติด

                 ครูแอ๋มมักเล่าเสมอว่าการทำงานกับเด็กในชุมชนนั้นต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก และต้องออกแบบเหมือนไม่ออกแบบ คือ พร้อมจะปรับเปลี่ยนงานให้เป็นไปตามสภาพการณ์ของปัญหา โดยเอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง

                 จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกกับเด็กในคลองเตยมา 9 ปี ทำให้กลุ่มคลองเตยดีจัง พัฒนาวิธีการทำงานกับเด็ก เปลี่ยนจากการทำงานที่เน้นผลักดันให้เด็กกลับไปเรียนหนังสือโดยให้เข้าไปอยู่ในระบบ ซึ่งครูแอ๋มกับทีมงานก็พบว่าเป็นความพยายามที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่มีวันสำเร็จ เพราะปัจจัยแวดล้อมเด็กแต่ละคนต่างกัน จนเกินกำลังของครูกับทีมที่จะช่วยผลักดันเด็กไปในทางที่ครูต้องการ

                 คลองเตยดีจัง จึงตั้งหลักใหม่ ปรับเปลี่ยนความต้องการที่จะให้เด็กเรียนจบ มาเป็น ให้เด็กค้นพบความต้องการของตัวเอง และเน้นการเรียนรู้ที่นำไปใช้งานได้ในชีวิตจริงทันที จนได้เป็นหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ต้องการวุฒิการศึกษา โดยประสานกับศูนย์การเรียนเซนต์ยอห์นบอสโก เพื่อให้เด็กเรียนผ่านออนไลน์ตามหลักสูตรที่ระบุไว้มีทั้งม. ต้น และ ม.ปลาย  กลุ่มที่สอง เน้นการเรียนเพื่อให้เด็กมีทักษะที่สามารถเอาตัวรอดได้ ไม่เน้นวิชาการ แต่เน้นสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งกระบวนการของการดูแลเด็กกลุ่มนี้จะใช้เวลา 8 เดือน เพื่อช่วยให้เด็กรู้จักการวางแผน ฝึกฝนตนเอง มีพี่เลี้ยงคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด  ซึ่งกลุ่มนี้เองที่นำมาสู่โครงการ Learn & Earn

 

การเรียนที่ตอบโจทย์ชีวิตเด็กกลุ่มเปราะบาง คือ เรียนแล้วทำเงินได้

การเรียนรู้ที่ทำให้เด็กเรียนไปด้วย มีรายได้ไปด้วยของ Learn & Earn นั้น แบ่งออกเป็น 4  เรื่อง คือ

  • Sound engineer & Stage Management เรียนรู้ทักษะการจัดการเวที ประสานงานเวที ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการเตรียม การติดตั้งระบบเสียง และการมิกซ์เสียงต่าง ๆ

 

  • เรียนการออกแบบโดยใช้โปรแกรม Canva & Communication

 

  • เรียนการจัดการขยะ เพื่อแก้ปัญหาขยะร่วมกับชาวชุมชนคลองเตยในระยะยาว นอกจากนี้ทักษะที่จะได้คือ การลงมือทำ การออกแบบกระบวนการ การทำงานร่วมกับชุมชน และสามารถสร้างรายได้เสริมได้จริง

 

  • หลักสูตรการขายเสื้อผ้ามือสอง

 

                 นอกจากเด็กแต่ละคนจะเลือกเรียนตามความสนใจและต้องการของตนเองแล้ว เด็กๆ ยังได้เรียนวิชาหลักคือ คณิตศาสตร์ ซึ่งมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลมาช่วยติวให้ในเช้าวันเสาร์ เพื่อให้เด็กได้หลักคิดในการคำนวณที่เน้นให้เอาไปใช้จรองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การออม ไปจนถึงการบริหารความเสี่ยงโดยใช้ เรื่องหวย มาเป็นตัวอย่าง เป็นต้น และอีกหนึ่งวิชาที่กำลังจะเกิดให้เด็กได้เรียนคือ ภาษาอังกฤษ โดยมีครูต่างชาติอาสามาสอนให้

                 โครงการ Learn & Earn  เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม คลองเตยดีจัง ที่ทำพื้นที่เรียนรู้ในแบบที่ช่วยส่งเสริมทั้งสุขภาวะให้กับเด็ก ตั้งอยู่ใกล้บ้านของเด็กในชุมชนคลองเตย ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของพื้นที่สร้างสรรค์ที่ภาคีเครือข่ายซึ่งสนใจในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนตนเอง สามารถมาเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้และออกแบบโดยคำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลัก

หากภาคีเครือข่ายสนใจอยากศึกษาแนวทางการทำพื้นที่ สามารถติดต่อได้ที่ Facebook : คลองเตยดีจัง

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก Facebook : คลองเตยดีจัง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ