คนสองวัยเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อดูแลกัน
เยาวชนกลุ่มหนึ่งจากชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน ประกอบด้วย ซอล-ไฟซอล สาดอาหลี นิส-นัสรีน สาดอาหลี และ นี-ฟิวส์ลดา โย๊ะฮาหมาด รวมกลุ่มกันทำโครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน ด้วยการลุกขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุในชุมชนที่ถูกทอดทิ้ง และสงเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้งด้านร่างกาย สังคม และจิตใจ จึงเข้าสู่การมองรอบตัวเพื่อหาโจทย์การทำโครงการ ในที่ประชุมมีการเสนอขึ้นมาหลายปัญหาแต่สุดท้ายก็ตกลงเลือกเรื่อง “ผู้สูงอายุ”
“ในหมู่บ้านของเรามีผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ บางคนถูกทอดทิ้ง ขาดความอบอุ่น และมีผู้สูงอายุติดเตียง จึงว่าน่าจะทำโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุเพื่อให้เขาได้มีกิจกรรมทำ พบปะกับเพื่อนวัยเดียวกัน ได้พูดคุย ได้หัวเราะให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากลูกหลาน เพื่อให้เขามีกำลังใจในการมีชีวิตต่อไป”
ทีมงานเก็บข้อมูลจาก 2 ทาง ทางแรกคือ “ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว” โดยไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขอข้อมูลจำนวนผู้สูงอายุ และข้อมูลสุขภาพที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สำรวจไว้ นีเล่าว่า “ข้อมูลของอสม. ทำให้เรารู้ว่าในชุมชนมีผู้สูงอายุกว่า 80 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคความดัน รองลงมาคือโรคเก๊าท์ และเบาหวาน”
หลังได้ข้อมูลชุดแรก ทีมงานเดินหน้าหาข้อมูลอีกทางด้วยการ “เก็บข้อมูลเพิ่ม” โดยใช้แบบสอบถาม การจดบันทึก อัดเสียง และถ่ายวิดีโอ เพราะคิดว่าการรู้ข้อมูลรอบด้านจะทำให้ “แก้ปัญหาได้ถูกจุด” จากการรับฟังปัญหา
นอกจากรับฟังความต้องการของผู้สูงอายุแล้ว ทีมงานได้นำข้อมูลมาประชุมแล้วประมวลผลออกมาเป็นกิจกรรมอีก 2 กิจกรรมคือการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรง และกิจกรรมตรวจวัดความดัน เพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นระยะ และเป็นการลงไปเติมกำลังใจให้ผู้สูงอายุด้วย
สุขภาพผู้สูงอายุกับวิถีชุมชน
ทีมงานเลือกมัสยิดประจำชุมชนเป็นที่จัดกิจกรรม เพราะเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน หลังสรุปเรื่องสถานที่ ทีมงานก็ประสานกับ อสม. เพื่อมาช่วยเป็นวิทยากรให้ความรู้ วัดความดันผู้สูงอายุ และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะจัดด้วย กระทั่งเลือกเป็นการออกกำลังกายด้วยไม้กระบี่กระบอง เพราะสามารถนำวัสดุในท้องถิ่นมาทำให้เกิดประโยชน์ และผลิตได้ง่าย ทุกคนกลับไปทำเองได้
ผลของความตั้งใจได้สะท้อนสิ่งที่น่ายินดีแก่ทีมงาน เมื่อผู้สูงอายุตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเกินกว่าความคาดหมาย และบรรยากาศโดยรวมดำเนินไปอย่างราบรื่น
กิจกรรมต่อมาคือ “การเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้าน” เพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุหลังการดำเนินกิจกรรมแรกด้วยการวัดความดัน และพูดคุยเป็นกำลังใจแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งทีมงานพากันไปเรียนรู้วิธีวัดความดันจากพี่ๆ อสม. โดยการจำลองเหตุการณ์ให้จับคู่กัน คนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ อีกคนเป็นคนตรวจ ให้พวกเขาได้ลงมือทำจริงจนเกิดความมั่นใจ
“ระหว่างที่ตรวจเราก็จะพูดคุยกับผู้สูงอายุไปด้วยว่าความดันของเขาเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นปกติ และคอยให้กำลังใจเขาครับ” ซอลเล่า
ทีมงานอธิบายวิธีการทำงานเพิ่มเติมว่าพวกเขาจะไปเยี่ยมผู้สูงอายุในวันเสาร์อาทิตย์ หรือหลังเลิกเรียนขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกคนไหนว่างวันใด บางครั้งก็มีของฝากติดไม้ติดมือไปให้ผู้สูงอายุ และชวนน้องคนอื่นๆ ในชุมชนไปช่วยฟังช่วยคุยด้วย โดยทุกครั้งที่ไปจะมีการจดข้อมูลไว้เพื่อเก็บเป็นข้อมูล
อัพเลเวลความสุข
แม้ข้อมูลที่จดบันทึกจะยังไม่สามารถบ่งบอกความก้าวหน้าด้านสุขภาพกายของผู้สูงอายุได้ แต่สิ่งที่ทีมงานสัมผัสถึงความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจนคือ “สุขภาพใจ” ของผู้สูงอายุที่เพิ่มเลเวลขึ้นจนสะท้อนออกมาเป็นรอยยิ้มตลอดเวลาที่พวกเขาไปหาที่บ้าน ที่ชัดที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงท่านหนึ่งซึ่งมีกำลังใจในการพยายามยกแขนยกขาของตัวเอง เวลาที่พวกเขาไปช่วยทำกายภาพบำบัด ขณะเดียวกันทีมงานก็ค้นพบว่าสุขภาพใจพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไปไม่ต่างจากผู้สูงอายุ
“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยไปเยี่ยมผู้สูงอายุในชุมชนเลย นอกจากผู้สูงอายุที่เป็นเครือญาติของตัวเอง แต่พอมีโครงการนี้ขึ้นมาก็ทำให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักกับผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น ถึงแม้ต่อไปจะไม่ทำโครงการนี้แล้ว เราก็คงไปเยี่ยมผู้สูงอายุเหมือนเดิมอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะเกิดความผูกพันกับเขาไปแล้ว”
การเรียนรู้ผ่านโครงการ
การทำโครงการของทีมงานกับผู้สูงอายุอาจดำเนินไปบนเส้นทางของกลีบกุหลาบ ทว่าสำหรับการทำงานด้วยกันภายในทีม พวกเขาก็ต้องพบขวากหนามไม่ต่างจากทีมอื่นๆ ซึ่งปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่อง “เวลา”
ซอลเล่าว่า เริ่มจากการทำความเข้าใจกันก่อนว่าแต่ละคนต่างไม่มีเวลา แต่ก็ยังไม่พอ เลยคุยกันว่าจะล็อกเวลาหลังเลิกเรียน และเสาร์-อาทิตย์มาทำกิจกรรม แต่ละคนต้องสละเวลาส่วนตัวมาทำเพื่อส่วนรวม เวลาที่ไม่ได้มาทำกิจกรรมก็ลองบริหารเวลาของตัวเองควบคู่ไป
วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวใช้เวลาอยู่ช่วงหนึ่งจึงเข้าที่เข้าทาง และกลายเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะช่วยฝึกนิสัยการบริหารเวลาของพวกเขาไปในตัวด้วย ขณะเดียวกันทีมงานแต่ละคนก็ได้ค้นพบศักยภาพใหม่ที่ฉายแสงออกมาหลังจากเข้ามาทำโครงการนี้
นิสเล่าว่า เมื่อก่อนเวลาไม่ค่อยพูด ถามคำตอบคำ ถ้าไม่ถามเราก็เงียบ กลับจากโรงเรียน ก็จะอยู่แต่ในบ้าน พอมาทำโครงการได้พัฒนาทักษะการพูดมากขึ้น เพราะรับหน้าที่ประสานงานต้องติดต่อกับคนนั้นคนนี้ แล้วก็มีทักษะการคิดเป็นขั้นเป็นตอน เพราะต้องวางแผนบ่อยๆ คิดวิธีทำงาน ทำกิจกรรมบ่อยๆ เหมือนว่าพอทำซ้ำก็ค่อยๆ พัฒนาทักษะพวกนี้มากขึ้น
นีก็เป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูดเช่นกัน เธอบอกว่าเมื่อก่อนเวลาต้องนำเสนองานในโรงเรียน เธอจะให้เพื่อนเป็นคนพูดแทน แต่หลังจากเข้ามาทำโครงการนี้เธอก็พบจุดเปลี่ยนที่เข้ามาพังทลายกำแพงความกลัวลงไป
ซอล บอกว่า การไม่ถูกตัดสินว่าสิ่งที่พูดนั้นผิดหรือถูกก็มีผลต่อความกล้าของเขา จากเมื่อก่อนไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ เพราะกลัวทำผิด แต่พอได้เข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปที่ต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ และทำกิจกรรมที่ต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุก็ทำให้เขาพบจุดเปลี่ยน
นอกจากพัฒนาทักษะภายนอกแล้ว ทีมงานยังเกิดความรู้สึกภายในขึ้นด้วย เรื่องแรกคือ “ความตระหนัก” เกี่ยวกับสุขภาพ จากการที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้สูงอายุหลายคนที่ต่างมีโรคประจำตัว ทำให้ทีมงานเห็นว่า สุขภาพมีความสำคัญมากขนาดไหน หากอยากมีชีวิตที่ดียามแก่ชราก็ควรเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่ตอนนี้ จะได้ไม่ต้องลำบากรักษาตัวในอนาคต อีกเรื่องหนึ่งคือ “ความสุข” บางอย่างที่เกิดขึ้นจากโอกาสที่ได้ทำโครงการนี้
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับชุมชนบ้านเขาน้อย…ที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ลุกขึ้นมาเอาธุระกับผู้สูงอายุในชุมชนเสมือนเป็นคนในครอบครัว “รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ” ของผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรม ถือเป็นรางวัลที่เยาวชนกลุ่มนี้รู้สึกภาคภูมิใจหลังจบโครงการ
ฟิวส์ลดา โย๊ะฮาหมาด (นี)
ไฟซอล สาดอาหลี (ซอล)
นัสรีน สาดอาหลี (นิส)
โครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน
พี่เลี้ยงโครงการ : บาจรียา แซะอามา, สอและ หลงสมัน
ทีมงาน : ฟิวส์ลดา โย๊ะฮาหมาด, ไฟซอล สาดอาหลี, นัสรีน สาดอาหลี