กิจกรรมทางกายประจำบ้าน สำหรับเด็กในยุคชีวิตวิถีใหม่
สถานการณ์ด้านกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทยอายุ 5 – 17 ปี จัดอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ โดยในช่วงระหว่างปี 2555-2562 ผลการสำรวจพบว่ามีเด็กและเยาวชนไทยประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยติดลบร้อยละ 0.06 ต่อปี
ทั้งนี้ ในปี 2559 เป็นปีที่เด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงที่สุด (ร้อยละ 27.6) ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการหามาตรการหลักที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย[1]
กิจกรรมทางกาย คืออะไร
คำว่า “กิจกรรมทางกาย” เป็นคำที่แปลมาจากคำว่า “Physical Activity” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ ที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อโครงร่าง หรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ช่วยให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงาน โดยกิจกรรมทางกายสามารถ จำแนกเป็น 3 หมวดกิจกรรม ได้แก่
- กิจกรรมทางกายในการทำงาน ที่ครอบคลุมถึงการทำงานต่างๆ ทั้งที่ ได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้าง การศึกษา/ฝึกอบรม งานบ้าน/กิจกรรมในครัวเรือน การทำงานเกษตรกรรม การเพาะปลูก และเก็บเกี่ยว หรือการประมง เป็นต้น
- กิจกรรมทางกายในการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ด้วยการเดิน หรือปั่นจักรยานเพื่อการสัญจร เช่น การเดินทางไปทำงาน การเดินทางเพื่อไปจับจ่ายใช้สอย/ซื้อเครื่องใช้ต่างๆ ไปตลาด ไปทำบุญ หรือไปศาสนสถาน เป็นต้น
- กิจกรรมทางกายเพื่อนันทนาการ หรือกิจกรรมยามว่าง เช่น การออกกำลังกาย และเล่นกีฬาประเภทต่างๆ การเล่นฟิตเนส การเต้นรำ และกิจกรรมนันทนาการ/กิจกรรมยามว่างเพื่อความผ่อนคลายที่ปฏิบัติในเวลาว่างจากการทำงาน
อายุ แต่ละวัย ในการออกกำลังกาย
ทำไมต้องกิจกรรมทางกายประจำบ้าน
จากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พวกเราทุกคนต่างต้องเก็บตัวใช้เวลาอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ตามปกติ ส่งผลให้บ้านกลายเป็นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตและประกอบกิจกรรมในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การประชุม การเรียนหนังสือ เป็นต้น หลายคนเมื่อหยุดอยู่ที่บ้านเป็นเวลานานก็รู้สึกเบื่อ อุดอู้ บางคนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จึงต้องการหากิจกรรมที่จะทำเพื่อใช้เวลาให้เกิดประโยชน์
ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่ากระแสการออกกำลังกายจากที่บ้าน หรือที่เรียกกันว่า “Fit From Home” จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากเราสามารถหยิบหรือประยุกต์ใช้กิจกรรมเหล่านั้นมาไว้และปฏิบัติประจำบ้านของเรา ก็จะเกิดประโยชน์ทางสุขภาพได้เป็นอย่างมาก ลองมาดูกันว่าหากต้องอยู่ที่บ้าน เราจะมีกิจกรรมทางกายที่บ้านได้อย่างไรบ้าง
เริ่มต้นจากกิจกรรมทางกายในหมวดทำได้ง่ายที่สุด โดยใช้กิจกรรมงานบ้านมาใช้เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหว แถมยังได้ประโยชน์ในแง่ความสะอาดของบ้านเรือนเป็นของแถม เพียงแค่ปรับวิธีคิดเพียงเล็กน้อย แล้วลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้
ชีวิตดี วิถีใหม่
กิจกรรมทางกายประจำบ้านสำหรับเด็ก
เด็กกับ “การเล่น” เป็นของคู่กัน การเล่นของเด็กจะช่วยกระตุ้นสมองและส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ทั้งในมิติของร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ทว่าจากสถานการณ์ในปัจจุบัน รูปแบบการเล่นของเด็กๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก จากที่เคยเล่นผ่านทางการเคลื่อนไหวร่างกาย เปลี่ยนเป็นการเล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ต่อไปนี้ จะเป็นการเล่นออกแรงแบบ Active Play ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กๆ เกิดความสนุกและได้รับประโยชน์ที่สำคัญๆ 3 ประการคือ
วิธีการมีกิจกรรมทางกายที่บ้านสำหรับเด็ก
- พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และสังคม
2. พัฒนาทักษะที่จำเป็นตามช่วงวัย และกระตุ้นการเรียนรู้
3. เสริมความแข็งแรง และป้องกันภาวะโรคอ้วนในเด็ก
[1] REGENERATING Physical Activity in Thailand after COVID-19 Pandemic: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19, ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกาย ประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2563. (เอกสารทางวิชาการ/สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; หมายเลข 516),ปิยวัฒน์ เกตุวงศา, กรกนก พงษ์ประดิษฐ์, บรรณาธิการ
คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน ทำหน้าที่เหมือนยาสามัญประจำบ้าน สมาชิกในครอบครัวที่อยากรู้จัก ทำความเข้าใจ และรู้วิธีการทำกิจกรรมทางกายสามารถใช้คู่มือเป็นแนวทางปฏิบัติได้ เพราะกิจกรรมทางกายสำคัญเท่ากับการรับประทานอาหารที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เล่มนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายที่สามารถทำได้เมื่ออยู่บ้าน ปฏิบัติได้ง่ายๆ เครื่องมือไม่มาก สามารถสแกนคิวอาร์โคดเพื่อรับชมคลิปวิดีโอกิจกรรมทางกาย กว่า 60 คลิปวิดีโอผลงานของภาคีเครือข่าย สสส. และคลิปจากบุคคลที่มีชื่อเสียง
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงจาก คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน
จัดทำเนื้อหาและจัดพิมพ์โดย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)