การเล่น ร้อง และอ่านกับลูกที่บ้าน ส่งผลต่อความพร้อมเข้าเรียนอนุบาลของลูก

แม้พ่อแม่ต้องจัดการและรับมือเรื่องมากมายที่ทั้งกินเวลาและสร้างความเครียดในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ แต่กิจกรรมการเรียนรู้ที่บ้านทั้งการอ่านและการร้องเพลง รวมทั้งการเล่นกับเด็กมีผลสำคัญมากต่อการเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนถึงวัยเข้าโรงเรียน

สิ่งที่พ่อแม่ทำที่บ้านเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าเด็กเล็กจะได้รับการเตรียมตัวพร้อมเข้าโรงเรียนแค่ไหน เมื่อดูจากทั้งคุณภาพและปริมาณ จากการวิจัยพบว่าผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากเท่าไหร่ ก็จะสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมที่บ้านมาก และยิ่งส่งผลดีมากในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ

เมลิสซา บาร์เน็ตต์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยแอริโซนาพบว่าในช่วงโควิด-19 ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องปิดตัวลง แต่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในอเมริกาหลายแห่งสามารถทำหน้าที่สนับสนุนพ่อแม่ให้มีส่วนร่วมในการศึกษาของเด็กที่บ้านได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อความพร้อมของเด็กก่อนวัยเรียน  โดยผลการวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Early Childhood Research Quarterly ซึ่งเป็นวารสารที่ตีพิมพ์งานวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย ทฤษฎีและการปฏิบัติ

ประเด็นสำคัญที่คณะวิจัยค้นพบ ได้แก่

  • เมื่อพ่อแม่เห็นว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีการสื่อสารที่ดี และให้ข้อมูลด้านการเรียนและพัฒนาการของเด็กๆ อย่างชัดเจน ตัวผู้ปกครองเองก็มีแนวโน้มจะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการศึกษาเช่นการอ่านและร้องเพลงร่วมกับเด็กๆ มากขึ้น ทั้งที่ศูนย์และที่บ้าน
  • พ่อแม่กลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจัดมากเท่าไหร่ เช่น อาสาช่วยงานในชั้นเรียน เข้าประชุมทุกครั้ง หรือช่วยดูแลเด็กๆ เวลาจัดกิจกรรม พวกเขาก็จะมีส่วนในกิจกรรมการศึกษาของเด็กที่บ้านมากเช่นกัน
  • ยิ่งผู้ปกครองมีส่วนร่วมในกิจกรรมการศึกษาที่บ้านมากเท่าไหร่ เด็กๆ ก็ยิ่งมีความพร้อม ทั้งด้านภาษาและทักษะการอ่านเบื้องต้นเพื่อจะเตรียมตัวเข้าอนุบาลมากเท่านั้น
  • คุณภาพของกิจกรรมการศึกษาที่บ้านเป็นหนึ่งในสิ่งบ่งชี้สำคัญที่สุดว่าเด็กมีความพร้อมขนาดไหนที่จะเข้าเรียนต่อในระดับอนุบาล และส่งผลไม่เพียงแค่กับด้านภาษาและทักษะการอ่านเบื้องต้น แต่ยังเกี่ยวกับทักษะคณิตศาสตร์เบื้องต้นด้วย

งานวิจัยของบาร์เน็ตต์และคณะซึ่งดำเนินการตั้งแต่ก่อนมีโรคระบาด คือการติดตามดูบทบาทของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่กระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการศึกษากับเด็กๆ ทั้งที่ศูนย์และที่บ้าน

ระเบียบวิธีการวิจัยใช้ข้อมูลจากโครงการศึกษาเด็กเล็กแบบต่อเนื่องระยะยาวโดยจัดกลุ่มตามปีเกิด (Early Childhood Longitudinal Study—Birth Cohort) ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างระดับชาติที่คัดเลือกจากเด็ก 10,700 คนที่เกิดในสหรัฐในปี 2001 โดยติดตามตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยอนุบาล

พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้จะตอบแบบสอบถามโดยให้คะแนนที่ออกแบบมาเพื่อวัดว่าพวกเขาคิดว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ข้อมูลและให้พวกเขามีส่วนร่วมได้ดีเพียงใด ผู้ปกครองยังตอบคำถามด้วยว่าพวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการศึกษาของเด็กบ่อยครั้งเพียงใด ทั้งที่ศูนย์และที่บ้าน

ส่วนเด็กๆ จะทำแบบประเมินเพื่อวัดทักษะด้านภาษา การอ่าน และคณิตศาสตร์เบื้องต้นก่อนเข้าอนุบาล

คณะวิจัยยังเฝ้าสังเกตผู้ปกครองและเด็กที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียน และประเมินคุณภาพของปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ด้านกระตุ้นการเรียนรู้ และพบว่าคุณภาพสำคัญต่อความพร้อมเข้าโรงเรียนยิ่งกว่าปริมาณ

บาร์เน็ตต์ย้ำถึงความสำคัญของการทำกิจกรรมที่บ้านแบบมีคุณภาพว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก “พ่อแม่ส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กว่าต้องอ่านหนังสือและร้องเพลงกับเด็กๆ แต่อาจไม่รู้วิธีการที่ถูกต้องว่าจะทำให้ดีที่สุดอย่างไร”  ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด เช่น คิดหาทางสร้างกิจกรรมที่เข้ากับความสนใจและความสามารถเฉพาะตัวของเด็ก และทำให้กิจกรรมอย่างการอ่านมีความหมายมากขึ้นด้วยการหยุดถามคำถามเป็นระยะๆ เพื่อช่วยให้เด็กเชื่อมโยงเรื่องกับประสบการณ์ของตน

| เรียบเรียงจาก: https://phys.org/news/2020-07-early-childhood-centers-boost-parents.html

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ