กะเทาะประสบการณ์ทำงานพัฒนาเด็กด้วยแนวคิด “ชุมชนนำ” เพราะไม่มีใครรู้จักคนในชุมชนได้ดีกว่าคนในชุมชนเอง
สสส. และภาคีเครือข่าย 19 จังหวัดต้นแบบ ได้ถอดบทเรียนการทำงานด้านเด็กและครอบครัวแบบชุมชนนำ และพร้อมสนับสนุนให้ สศช. นำแนวคิดและบทเรียนการทำงานต่างๆ ไปพัฒนาเป็นมาตรการภายใต้แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ผ่านแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.ปลดล็อกระเบียบ ข้อจำกัด การทำงานด้านเด็กและครอบครัวของท้องถิ่นให้ครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์ 2.เน้นให้ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่เด็กทุกช่วงวัย 3.เชื่อมโยงพลังจิตอาสาในแต่ละพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน โดยไม่ทิ้งกลุ่มเปราะบางไว้ข้างหลัง
วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกริ่นนำถึงการจัดเวทีสนทนาเชิงนโยบายเรื่องระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวระดับพื้นที่ :การปรับเปลี่ยนเชิงกลไกและนโยบาย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ว่า “เราคาดหวังว่า จะได้เข้าใจปัญหาอุปสรรคจากการทำงานว่าระบบนิเวศแบบไหนที่จะทำให้เราทำงานกันต่อได้ ขยายผลอย่างไร ทำงานแบบไหนถึงยั่งยืน เพื่อจะเชื่อมให้ท้องถิ่นกับชุมชนทำงานด้วยกัน โดยยึดชุมชนเป็นตัวตั้ง ในเวทีสนทนาครั้งนี้”
ในยณะที่ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดเวทีสนทนาเชิงนโยบาย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่เป็นการจัดร่วมกันระหว่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคีที่มีประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยใช้แนวคิด “ชุมชนนำ”
ที่มาของการจัดหารือในวันนี้ มาจากการริเริ่มการทำงาน โดยใช้ “ชุมชนนำ” ว่าจะมีวิธีการทำงานอย่างไร โดยไม่มีทฤษฎีหรืองานวิจัยใดๆ มารองรับ ไม่มีพิมพ์เขียวสำหรับให้พื้นที่ระดับตำบลนำไปทำตาม แต่มาจาก “ความกล้า” ของแต่ละชุมชน ที่ทำโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากรู้ว่า การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนโดยใช้คนทั้งหมู่บ้านนั้น ทำอย่างไร
ดังนั้น การทำงานแบบนี้จึงเป็นการทำงานแบบ “กลับด้าน” โดยมีเด็กเป็นประโยชน์สูงสุด โครงการนี้จึงถือเป็นการทดลองที่ท้าทาย และก็ได้บ่มเพาะคนทำงานตั้งแต่ปี 2561 มาจนถึงปัจจุบัน จนสามารถมีเครื่องมือและแนวคิดในการทำงานที่ผ่านประสบการณ์ และ”ตัดเย็บ” จนเป็นเครื่องมือของตนเอง ใน 210 ตำบล ของ 19 จังหวัดที่ถือเป็นต้นแบบในการทำงานตามแนวคิดนี้
ณัฐยายกตัวอย่างการทำงานแบบชุมชนนำ โดยเล่าเรื่องอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) คนหนึ่งที่ได้รับการขอร้องจากเพื่อนบ้านให้ไปช่วยบ้านหลังหนึ่งที่กำลังเตรียมฆ่าตัวตายทั้งครอบครัว เธอจึงเข้าไปช่วยเหลือ จนได้รู้ว่า ผู้เป็นแม่กำลังจะพิการทางสายตา ในขณะที่สามีถูกจับเพราะมียาบ้าหนึ่งเม็ด เธอจึงเกิดความรู้สึกสิ้นคิด ทั้งที่มีญาติพี่น้องอยู่ใกล้ๆ
“อสม. ที่พบเหตุการณ์จึงสื่อสารผ่านโทรศัพท์ไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้นำความช่วยเหลือมาให้อย่างรวดเร็ว ทั้งข้าวสารอาหารแห้ง และเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่คนในหมู่บ้านช่วยกันระดม พร้อมทั้งขอให้ นายก อบต. ช่วยให้หัวหน้าครอบครัวออกมาจากเรือนจำ เหตุผลที่ผู้เป็นแม่ตัดสินใจจะฆ่าตัวตายพร้อมลูก เพราะความรู้สึกของเธอคือบ้านของเธอเป็นหลังที่มีฐานะยากจนที่สุดในหมู่บ้าน ทำให้เธอไม่กล้ายุ่งเกี่ยวกับใคร จนเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และเห็นความตั้งใจจะช่วยเหลือของคนทั้งหมู่บ้าน จึงทำให้เกิด กำลังใจ และเริ่มรู้สึกว่าตนเองและครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านได้ ตัวอย่างการทำงานเช่นนี้เองที่สะท้อนนิยามแนวคิด การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน อย่างเห็นได้ชัด” ณัฐยากล่าว
อาจกล่าวได้ว่า การทำงานช่วยเหลือเด็กโดยใช้ชุมชนนำนั้น จึงเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน ใช้ความเห็นอกเห็นใจที่มีอยู่แล้วในชุมชน คนที่เชี่ยวชาญที่สุดในการดูแลเด็กก็คือคนในหมู่บ้าน เพียงแต่เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการดูแลเด็กจากการใช้วัฒนธรรมอำนาจ มาเป็นการเลี้ยงด้วยความเช้าใจ ซึ่งเครื่องมือสำคัญก็คือ การ “เยี่ยมบ้าน” ที่ทำให้คนในหมู่บ้านเห็นว่าแต่ละบ้านกำลังอยู่ในสถานการณ์อย่างไร
เวทีสนทนาเชิงนโยบายในครั้งแรกนี้ จึงมีเป้าหมายว่า แนวทางการทำงานโดยใช้ชุมชนนำ จะสามารถยกระดับการทำงานอย่างไรผ่านประสบการณ์ของคนที่ทำงานในชุมชน
ผู้ร่วมเวทีจึงมีทั้งผู้แทนที่มาจากส่วนกลาง เช่น ผู้แทนจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน ที่รับผิดชอบการสร้างระบบคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน หรือการสร้างเครือข่ายคุ้มครองเด็กในระดับตำบล ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ในการมุ่งส่งเสริมและผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล มีบทบาทการทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กอย่างเข้มแข็งและครบวงจร โดยเฉพาะในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในระดับตำบลและเทศบาลให้สามารถทำหน้าที่คุ้มครองเด็ก คล้ายคลึงกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด
และยังมีผู้แทนในระดับจังหวัด ซึ่งหนึ่งในผู้เข้าร่วม คือ ประทีป ภาชนนท์ หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลศรีถ้อย อ. แม่ใจ จ.พะเยา ได้นำเสนอประสบการณ์การทำงานแบบ “ชุมชนนำ” ในท้องถิ่นของตนเองว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดคือ ชุมชนเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการแก้ปัญหาของเด็ก โดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานระดับจังหวัดเป็นผู้เข้าไปก่อน สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคคือ เรื่องของข้อระเบียบ กฎต่างๆ ในการสนับสนุนงบประมาณ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การส่งต่อกรณีพบเด็กมีปัญหา ชุมชนจะทำงานช่วยเหลือส่งต่อได้อย่างรวดเร็วกว่า รวมทั้งการติดตามหลังจากส่งต่อแล้ว จึงเห็นได้ชัดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนเมื่อนำแนวคิดนี้ไปใช้
ความเห็นของผู้เข้าร่วมในเวที จึงสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า เป้าหมายสำคัญของการทำงานโดยใช้ชุมชนนำต้องการให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนตนเอง และร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วทันที
โดยเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การมีฐานข้อมูลที่ชุมชนร่วมกันทำผ่านการสำรวจเด็ก แล้วสามารถแยกกลุ่มเด็กได้ด้วยตนเองเพื่อประเมินว่าปัญหาของเด็กในครอบครัวแต่ละกลังอยู่ในระดับใด
กลไกการทำงานแบบชุมชนนำที่ทั้ง 19 จังหวัดใช้ คือ คณะทำงานระดับตำบล หรือในชื่อ “คณะทำงานกลีบดอกไม้” ที่มีหน้าที่ลงสำรวจปัญหาว่าแต่ละครอบครัวที่กำลังเผชิญนั้นมีปัญหาด้านใดบ้าง และจะสามารถช่วยเหลือด้านไหนได้ทันทีบ้าง โดยเชื่อมเครือข่ายที่มีทรัพยากรอยู่แล้วในชุมชน คณะทำงานในรูปแบบนี้สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนได้อย่างชัดเจน
แต่กาทำงานแบบ “ชุมชนนำ” จะทำได้ดี จำเป็นต้องได้รับการหนุนเสริมทั้งความรู้ เครื่องมือ และการรู้จักเครือข่ายที่รอบด้านมากขึ้น รวมทั้งการทำงานติตดามและการเสริมพลังอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานภายนอก เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานบนแนวทางนี้
ในมมุมองของผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นว่าการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนว่าต้องใช้ชุมชนเป็นผู้จัดการกันเอง โดยมี อปท. หนุนเสริมด้านงบประมาณ การสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนในชุมชน การมีความคิดเรื่องการทำงานโดยใช้เวทีการหารือแบบมีส่วนร่วมที่ทุกคนสามารถนำเสนอปัญหาร่วมกันได้อย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการทำงานครอบคลุมชีวิตเด็กอย่างรอบด้าน หากจะมีการตั้งศูนย์เพื่อช่วยเหลือเด็กในชุมชน ก็ต้องเริ่มมาจากคนในชุมชนเอง เพื่อจะได้สามารถทำงานช่วยเหลือได้จริง ไม่ใช่การจัดตั้งเป็นระบบ เป็นไปตามคำสั่งจากหน่วยงานรัฐ
การทำงานพัฒนาเด็ก โดยใช้แนวคิดชุมชนนำ คือการที่ชุมชนเกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของเรื่อง แต่ยังมีข้อท้าทายอยู่ที่การลดขั้นตอนการทำงานประสานกับหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ให้สามารถทำได้รวดเร็วอย่างไร
ปัญหาหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก มีความซ้ำซ้อน เกิดการตั้งศูนย์จำนวนมากในระดับตำบล อำเภอ เช่น บทบาทของบ้านพักเด็ก กับหน่วยงานใน พมจ. หากจะปรับโครงสร้างการทำงานโดยใช้แนวคิด ชุมชนนำ จะทำอย่างไรได้บ้าง เหล่านี้จะเป็นโจทย์สำคัญในการนำไปสู่การหารือในครั้งต่อๆ ไป