‘กระจายอำนาจ-ให้การศึกษา-ยอมรับความหลากหลาย’
กลไกสร้างโอกาสให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ไม่ถูกมองข้าม

             แม้ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะให้ความสำคัญต่อปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ ‘ไม่ถูกมองเห็น’ กลายเป็น ‘กลุ่มเปราะบาง’ ที่ถูกปล่อยให้เผชิญปัญหาในชีวิตตามลำพัง

             ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ กลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่มีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สังคม คนรอบข้าง ได้ตอบสนองต่อพวกเขาอย่างไร หรือได้ ‘มองเห็น’ สถานการณ์เฉพาะของเด็กและครอบครัวอย่างดีและเพียงพอแล้วหรือไม่ ?

             งานเสวนาสาธารณะในหัวข้อ ‘เปิดหน้าต่างบานถัดไป เข้าใจเด็กและครอบครัวที่ไม่ถูกมองเห็นให้มากกว่าเดิม’ จึงถูกจัดขึ้นจากความตั้งใจของ คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 101 PUB ชวนมาร่วมหาคำตอบพร้อมเข้าใจชีวิตเด็กและครอบครัวเปราะบาง หาแนวทางแก้ปัญหาและเติมฝันของพวกเขาให้ดีกว่าเดิม ในงานเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024”

 

             การศึกษาไทยที่เป็นอยู่สะท้อนปัญหาอะไร ?

             ร่มเกล้า ช้างน้อย คุณครูโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ผู้ร่วมวงเสวนาที่ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่ครูในกรุงเทพฯ เล่าว่า เหตุการณ์ที่ทำให้ได้เห็นโอกาสที่ไม่เท่ากันของเด็กในกรุงเทพฯ คือการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน อยู่โรงเรียนติดสะพานพระปิ่นเกล้า แต่เด็กที่ได้ไปเยี่ยมบ้านจริงๆ บ้านอยู่แถวบางใหญ่ บางบัวทอง หรือไปทางศาลายาก็มี

             “ถามนักเรียนว่าต้องตื่นกี่โมง ถ้าเด็กที่อยู่แถวศาลายาก็จะบอกว่าตื่นตี 3-4 แล้วต้องไปให้ทันรถตู้ เพราะถ้าเกิดว่าพลาดไปแค่ประมาณ 15 นาที จะต้องมาโรงเรียนสาย และรถแถวนั้นจะติดพอดี ทำให้เด็กในกรุงเทพฯ เฉลี่ยเฉพาะเด็กที่ผมเป็นที่ปรึกษา ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง ซึ่งจะต่างจากเด็กต่างจังหวัดที่ใช้เวลา 15-20 นาทีก็ถึงแล้ว”

             และประเด็นเด็กที่อยู่ในเมืองถูกมองข้าม เช่นเมื่อก่อนโรงเรียนที่สอนในกรุงเทพฯ จะมีศิลปินมาออกแคมปัสทัวร์ แต่หลังๆ ไม่มีเลย อาจเป็นเพราะเทรนด์การสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสขยายออกไปนอกเมืองมากขึ้น เด็กที่เคยอยู่ในเมืองแล้วเคยได้โอกาส ไม่เพียงแค่ลดลง แต่หายไปเลย ทำให้เด็กบางช่วง บางรุ่นขาดโอกาสในการเห็นอะไรบางอย่างที่เข้ามาในโรงเรียน

             ส่วนตัวอย่างของเด็กในต่างจังหวัด เล่าถึงโรงเรียนที่สอนในปัจจุบัน คือ โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์ ที่สอนอยู่ในปัจจุบัน เวลาเดินทางไปโรงเรียน จะต้องตื่นใกล้เคียงกับเด็กกรุงเทพฯ เพราะรถต้องไปรับเด็กที่อยู่หลังเขา ที่อยู่เกือบถึง จ.กำแพงเพชร เด็กที่โรงเรียน ขาดโอกาสทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน เนื่องจากต้องนั่งรถกลับบ้านพร้อมกัน

ร่มเกล้า ช้างน้อย คุณครูโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์

 

             หรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อย่างการเผาที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ก็อาจสะท้อนถึงกลไลรัฐที่เข้าไปไม่ถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

             “นครสวรรค์เป็นอีกจังหวัดที่มีการเผาค่อนข้างมาก ผมเคยบ่นกับเด็กประจำชั้นว่าทำไมเผาบ่อยจัง ไม่รู้หรือว่าเป็นเหมือนการฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่เด็กตอบกลับมาทำให้ผมรู้สึกอึ้ง เด็กบอกว่าครูจะไปรู้ได้ยังไง ครูเป็นคนเมือง ในเมืองมีเทศบาลมาเก็บขยะ แต่ผมอยู่ตรงนี้ใครจะมาเก็บ พวกผมก็ต้องจัดการกันเอง วิธีที่จัดการง่ายที่สุดก็คงต้องเผา นี่คือกลไกเมืองบางอย่างที่ยังไปไม่ถึง เป็นคำถามเหมือนกันว่า แล้วเราในฐานะข้าราชการครู เราสามารถทำให้การศึกษาหรือการพัฒนาบางอย่าง มันไปเกิดในชุมชนอย่างไรได้บ้าง” ร่มเกล้ากล่าว

             โดยส่วนตัวสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเริ่มต้น Set Zero คือยกเลิกโครงการที่จะเข้ามาในโรงเรียนออกให้หมด และต้องกระจายอำนาจ ยกตัวอย่าง หากให้งบการศึกษา 100 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ครูสามารถเสนอโครงการเพื่อขอทุนได้ โครงการนี้จะมาจากสิ่งอยากทำ มันจะไม่กลายเป็นภาระอีกต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ครูเล็งเห็นปัญหาและเลือกแก้ไขขึ้นเอง

             หรืออีกโมเดลคือกระทรวงศึกษาธิการไม่เป็นเจ้าภาพเอง แต่อาศัยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานหรือภาคส่วนอื่นๆ  เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ที่กระทรวงสาธารณสุขมีฟังก์ชันในการปรึกษานักจิตวิทยาออนไลน์ การสนับสนุนให้นักจิตวิทยาเข้าสู่โรงเรียนได้ หรือร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการการเยี่ยมบ้านไปพร้อมกัน

 

             สหรัฐ สุขคำหล้า อดีตสามเณร โรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ กล่าวถึงประเด็น การศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมว่ามีผลพวงจากวัฒนธรรมองค์กรของศาสนา โดยเปรียบเทียบโอกาสสำหรับเด็กวัด ที่ต้องแข่งขันกันเพื่อเรียนแผนกบาลี เนื่องจากเป็นแผนกที่มีสิทธิืได้โควตา มาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ อยู่ในวัดอารามหลวง เนื่องจากหากถ้าวัดใดมีบุคลากรผู้เรียนบาลีจำนวนมาก ตำแหน่งเจ้าอาวาสจะได้เลื่อนชั้นเป็นเจ้าคุณ เป็นตำแหน่งสมเด็จตามลำดับ

             “ตอนเรียนจบ ม.6 แล้ว โอกาสในการเข้าถึงการมาอยู่กรุงเทพฯ ยากมาก เพราะไม่ได้เรียนสายบาลี มันเลยมีปัญหาว่าไปขอวัดอยู่ยากมาก เป็นวัฒนธรรมองค์กรของศาสนา จะเน้นเรื่องของคนที่เรียนบาลีและพระไตรปิฎกเป็นหลัก เพื่อที่จะได้เหมาะกับกับตำแหน่งทางมหาเถียรสมาคม ที่เป็นองค์กรสงฆ์ในการปกครองพระในประเทศเป็นหลัก”

สหรัฐ สุขคำหล้า อดีตสามเณร

 

             และอีกปัญหาหนึ่งของมหาวิทยาลัยปกติ ที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยสงฆ์คือการไม่รับภิกษุ สามเณร เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ทางเลือกมีเพียงแค่การศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่รับพระสงฆ์เท่านั้น

             สิ่งที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงคือ การที่รัฐบาลสนับสนุนการกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นปกครองกันเองได้ ท้องถิ่นสามารถตัดชุดตัวเองได้ ออกแบบให้เข้ากับระบบนิเวศของแต่ละท้องถิ่นเอง เนื่องจากปัจจุบันระบบราชการในต่างจังหวัดถือว่ามีประสิทธิภาพสูงที่จะสร้างงาน สร้างคน พร้อมที่จะรับโอกาสเกิดการกดดันและตรวจสอบ

             ยกระดับการดูแลเด็กเป็นเรื่องของทั้งสังคม

             สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กกลุ่มเปราะบางและเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิ ได้กล่าวถึง สิทธิเด็กว่า ประเทศไทยมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989  ข้อ 7 ที่ระบุถึงสิทธิเด็กทั้งหมด 3 ประเด็นได้แก่

             ประเด็นที่ 1 การได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังเกิดและมีสิทธิที่จะมีชื่อตั้งแต่เกิด ในรายงานเฉพาะกรุงเทพมหานครมีเด็กที่ไม่ได้รับการจดทะเบียน 1 แสนกว่าคน ทั้งประเทศราว 1 ล้านคน ที่ไม่ถือว่าเป็นคนไทย

             ประเด็นที่ 2 คือสิทธิที่จะได้สัญชาติ เด็กทุกคนต้องมีรัฐอย่างน้อย 1 รัฐที่คุ้มครองดูแล การคุ้มครองดูแลโดยรัฐเรียกว่าสัญชาติ แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กที่ไม่มีสัญชาตินับล้านคน

             ประเด็นที่ 3 เด็กมีสิทธิได้รับการดูแลจากพ่อแม่ เด็กอีกจำนวนมากไม่มีพ่อแม่ดูแล ในขณะที่การจดรับรองบุตรบุญธรรมก็ทำได้ยาก

             “ปัญหาที่พบคือเด็กที่ไม่มีพ่อแม่และมีคนเลี้ยงดู จะเอาไปจดเป็นบุตรบุญธรรม ศูนย์บุตรบุญธรรมจำนวนมากไม่จดให้ จากเหตุผลว่าพ่อแม่ไม่มีความพร้อม เด็กไม่มีเอกสาร ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ปล่อยให้เขาเลี้ยงกันได้ การจดรับรองทำให้พ่อแม่อุปถัมภ์มีความพร้อมในการดูแลเด็กมากขึ้นตามกฎหมาย เพราะสามารถทำนิติกรรมให้เด็กได้ แต่ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ตามกฎหมาย ทำอะไรให้เด็กไม่ได้เลย กระบวนการเหล่านี้ต้องให้รัฐเข้ามาเรียนรู้มากขึ้น เข้ามาดูแลคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น” สุรพงษ์กล่าว

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

             อีกประเด็นคือ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประกาศใช้การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ให้ครอบครัวจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ เป็นทางเลือกของครอบครัวที่ประสงค์จัดการศึกษาให้บุตรเอง แต่สิ่งที่พบคือเมื่อไปขอจัดตั้งอย่างถูกต้อง ก็ไม่ได้รับการรับรองรวมถึงไม่มีงบประมาณสนับสนุน ซึ่งรัฐควรมีหน้าที่สนับสนุนครอบครัวโดยตรง

             นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์อื่นๆ อีก อาทิ กระทรวงศึกษาธิการที่มีนโยบายชัดเจนสนับสนุนเรียนฟรีถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในขณะที่งบสนับสนุนอาหารกลางวันมีถึงเพียงแค่ระดับชั้นประถมศึกษา เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของความเสมอภาคที่รัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมให้มีโอกาสใช้ทรัพยากรในการพัฒนาประเทศไทยมากขึ้น เพื่อเด็กจำนวนมากกลายเป็นคนที่ถูกมองไม่เห็นไป

 

             ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โจทย์ใหญ่คือเด็กและครอบครัว ณ ปัจจุบัน เข้าไม่ถึงสิทธิที่พึงได้รับ รัฐบาลเองก็ไม่สามารถรับประกันการมีชีวิตที่ดีได้ ชุมชนและครอบครัวรวมถึงโอกาสทางการศึกษาจึงถือเป็นกลไกการรับประกันความเสี่ยงและการมีชีวิตที่ดีของเด็กได้

             ในอดีตการเลื่อนสถานะที่ดีที่สุดคือ “การศึกษา” แต่ในโลกดิจิทัลในปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ครัวเรือนหรือเด็กที่มีฐานะยากจนมากๆ มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ชนชั้นที่สูงขึ้น โดยวิธีการที่ผิดแผกออกไป เช่น การขายภาพล่อแหลม อนาจารของตัวเอง การค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ เป็นรูปแบบการเลื่อนชั้นทางสังคมที่ใช้กลไกอื่นที่ไม่ใช่การศึกษา

             “สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกนอกระบบที่เป็นคู่แข่งของกลไกการศึกษาในระบบที่ไม่ส่งผลดีสำหรับสังคม แต่สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง มันกลายเป็นโอกาสภายใต้สังคมที่เขาแทบไม่มีความหวังอื่นที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยกระบวนการที่ถูกต้องได้เลย” ผศ.ดร.ธานี กล่าว

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

             อย่างไรก็ตาม การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่การจะยกระดับการศึกษาต้องพิจารณาไปที่ปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นการพัฒนาคนในครอบครัว พ่อแม่ต้องเข้าถึงสุขภาพที่ดี เมื่อลูกได้รับการศึกษาแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรจะมีสุขภาพที่ดีไปด้วย

             ผศ.ดร.ธานี กล่าวสรุปว่า การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากการทำให้เด็กด้อยโอกาสมีโอกาสมากขึ้น ต้องมาพร้อมกลไกป้องกันการถอยหลังของเด็กกลุ่มนี้ ได้แก่ การมีพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ที่จะพัฒนาและป้องกันเด็กเดินถอยหลังกลับไปเผชิญสถานการณ์กระทำผิดซ้ำ การมี Economic Empowerment หรือกลไกตลาดที่ทำให้กระบวนการทางการศึกษาดีขึ้น หรือแม้แต่การสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับครอบครัวเปลี่ยนจากการที่ต้องได้รับการอุดหนุนมาเป็นความสามารถในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ