“Happy Play หนองบัวลำภู” สร้างการเล่นอิสระ ฟื้นฟูความสุขในหัวใจเด็ก
สถานการณ์ความรุนแรง จากเหตุการณ์การกราดยิงในพื้นที่ ต.ท่าอุทัย จ.หนองบัวลำภู ผ่านพ้นไปปีกว่าแล้ว กระแสสังคมพูดคุยถึงเรื่องนี้น้อยลง แต่สำหรับคนในพื้นที่ แม้ไม่ได้อยู่ในบทสนทนาประจำวัน แต่เชื่อว่าชุมชนยังรับรู้ถึงประเด็นดังกล่าว บาดแผลที่ฝังลึกไม่จางหายง่ายดาย โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ
หลังเกิดเหตุการณ์ กรมสุขภาพจิตได้ประสานงาน มายังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ร่วมออกแบบกิจกรรมจากภาคีเครือข่ายที่เน้นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัว และนำกิจกรรมเหล่านี้ลงพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างงานสุขภาพจิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง
ภาคีเครือข่าย เล่นเปลี่ยนโลก คือผู้รับภารกิจหลักนี้ โดยเริ่มดำเนินงานฟื้นฟูความสุขเด็กผ่านการเล่นอิสระ จนเกิดเป็น ภาคีเครือข่าย Happy Play หนองบัวลำภู ที่ทำงานด้านการเล่นอิสระ และใช้การเล่นเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กขึ้นมา
ประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงการดำเนินงานของเครือข่ายว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรง เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน ผู้ใหญ่ก็พากันพูดคุยแต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมีปัญหาทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรม จนเกิดความหวั่นเกรงกันว่า เด็กอาจกลัวการไปโรงเรียน
ภาคีเครือข่าย Happy Play หนองบัวลำภู จึงนำรูปแบบการเล่นอิสระเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้เด็กได้ปลดปล่อย ผ่อนคลายและมีความสุขเพิ่มขึ้น
“การทำงานของโครงการนี้ ไม่ใช่เราทำเพราะที่นั่นเป็นพื้นที่รุนแรง แต่มุ่งไปที่เรื่องของการใช้การเล่นอิสระ ฟื้นฟูความสุขและพัฒนาทักษะชีวิตเด็ก และอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญของการเล่น ในการสร้างความสุขให้แก่เด็ก เพราะความสุขเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่สิ่งดีๆ ในทุกเรื่อง” ประสพสุขกล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการ
การเล่นช่วยฟื้นฟูความสุข
ทำไมต้องใช้การเล่นอิสระ
การเล่นอิสระ คือการจัดสภาพแวดล้อมหรือของเล่นไว้ให้เด็ก เน้นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นที่มีในชุมชนมาประยุกต์หรือประดิษฐ์เป็นของเล่น และให้เด็กได้ตัดสินใจเล่นโดยไม่มีกรอบบังคับ ไม่เน้นจัดกิจกรรมที่นำโดยผู้ใหญ่ ที่อาจตีกรอบทำให้การปลดปล่อยของเด็กเกิดขึ้นได้น้อยกว่าการเล่นอิสระ
เราจึงได้เห็นของเล่นทั้งกระบะทรายกลายเป็นหาดทรายที่เด็กเล่นอย่างสนุกสนาน เล่นแป้งหนึบหนับแบบไม่กลัวเลอะ มีการจัดมุมแต่งตัว มุมกล่อง ต่อบล็อก มุมครัวทำอาหาร วาดภาพระบายสี ทำให้เกิดภาพรอยยิ้มของเด็กๆ จากการเล่นสนุกเต็มอิ่ม
งานของเด็กคือการเล่น
การใช้ของที่หาได้ง่ายเป็นของเล่น
ขณะที่ผู้ใหญ่มีบทบาทเป็น ผู้อำนวยการเล่น (Play Worker) สนับสนุนการเล่นของเด็ก โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง คอยสังเกต อำนวยความสะดวก และพูดคุยกับเด็ก เมื่อเด็กๆ ต้องการ ซึ่งการจัดกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูจะมีทั้งครูและนักจิตวิทยาเข้าร่วมด้วย
แต่กระบวนการเล่นอิสระไม่ได้จบเพียงแค่เด็กได้รับความสนุกสนานเท่านั้น เมื่อสังเกตการณ์แล้ว ผู้อำนวยการเล่นจะนำข้อมูลส่งให้กับครู และนักจิตวิทยาต่อไป
“จากการจัดกิจกรรมการเล่นอิสระในพื้นที่ครั้งแรก เราพบว่าในหนึ่งชั่วโมงแรก เด็กยังรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ แต่พอได้เล่นแล้ว ก็ปลดปล่อยกันเต็มที่ กล้าที่จะบอกความต้องการ กล้าที่จะพูดคุย ทำให้คุณหมอหรือนักจิตวิทยาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น” ประสพสุขกล่าว
กิจกรรมเล่นตามความสมัครใจ
รถขนของเล่นและความสุข (Toy Truck)
“นักจิตวิทยาบอกว่าการเล่นช่วยฟื้นฟูเด็กและทำให้เด็กกลับมาสู่ภาวะปกติ ช่วยให้เด็กไม่กลัวโรงเรียนได้ถึง 80%” ประสพสุขเล่าถึงผลตอบรับในการจัดกิจกรรมเล่นอิสระครั้งแรกๆ ในช่วงปี 2565 ส่งผลให้ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียนเห็นถึงความสำคัญของการเล่นอิสระมากขึ้น และเกิดเสียงเรียกร้องต้องการให้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง
ภาคีเครือข่าย Happy Play หนองบัวลำภู จึงสำรวจความต้องการของชุมชนให้ชัดเจนขึ้น โดยพูดคุยสอบถามทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่และเด็ก ในตำบลโนนเมือง และ ตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ก่อนจะขยายผลไปสู่โรงเรียนอีก 16 แห่งใน 2 ตำบล เพื่อให้เกิดการอุ้มชูกันเป็นเครือข่าย โดยใช้การเล่นเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตแก่เด็ก เน้นการฟื้นฟูความสุขให้เด็ก มีระยะเวลาทดลองก่อน 1 ปี โดยใช้ “ทอยทรักส์” รถของเล่นแบบเดลิเวอรี นำขบวนของเล่นต่างๆ ตระเวนตามโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเป็นตัวอย่างให้ครูหรือบุคลากรเข้าใจรูปแบบการจัดการเล่นอิสระให้เด็ก
ทอยทรัค
“เราใช้ทอยทรักส์เป็นเครื่องมือเปิดพื้นที่เล่นให้เด็กเล่นในโรงเรียน ทำให้ครูเห็นว่าเด็กมีความสุข แล้วชวนคุณครูมาทำกัน ซึ่งทำได้ง่ายๆ ก็ตะลอนไปในหลายโรงเรียน และขยับไปสู่ชุมชน ในหย่อมบ้านต่างๆ ด้วยสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในหมู่บ้าน” ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกกล่าว
4 โมเดล การเล่นอิสระ
จากจุดเริ่มต้นการจัดกิจกรรมในโรงเรียนในหมู่บ้านที่เกิดเหตุคือ บ้านท่าอุทัย ตำบลอุทัยสวรรค์ เกิดเป็นการขยายผลออกไปใน 4 โมเดลประกอบด้วย
1. การส่งเสริมการเล่นในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 16 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียน 10 แห่ง และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 6 แห่ง
2. หย่อมบ้าน การสร้างผู้อำนวยการเล่นที่เป็นผู้ปกครองจัดกิจกรรมการเล่นให้กับเด็กในหย่อมบ้าน โดยใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชน
การเล่นในหย่อมบ้านโดยมีคนในชุมชนช่วยดูแล
3. พื้นที่ส่วนกลาง โดยใช้พื้นที่ของหน่วยงานราชการ อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล ให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน
4. ศูนย์ประสานงานเครือข่าย ทำหน้าที่ ผสานพลังเครือข่ายให้เข้ามารับรู้โครงการเล่นอิสระ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการเล่นร่วมกัน เพื่อเชื่อมกลไกของจังหวัด
กิจกรรมสร้างความสามัคคี
ปั้นผู้ใหญ่ ให้เป็นผู้อำนวยการเล่น
การสร้างพื้นที่เล่นอิสระให้เด็ก ไม่ได้ประกอบไปด้วยแค่อาคารสถานทีและของเล่นเท่านั้น ยังมีหัวใจสำคัญอีกหนึ่งองค์ประกอบคือ ผู้อำนวยการเล่น หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า เพลย์เวิร์กเกอร์ เป็นผู้เข้ามาร่วมดูแลการเล่นของเด็กให้สนุกสนาน ปลอดภัย สร้างสรรค์จินตนาการอย่างอิสระ ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย และช่วยประเมินหรือส่งต่อข้อมูลไปยังโรงเรียน ผู้ปกครอง หรือ นักจิตวิทยาได้
การเล่นเสริมพัฒนาการตามวัย
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการต่อยอดโครงการสู่การพัฒนาครูผู้สอนให้เป็นที่ทำหน้าที่ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนจำนวน 2 รุ่นกว่า 150 คน มีระบบสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูผู้ทำหน้าที่อำนวยการเล่น
ทั้งครูผู้สอนและโรงเรียนสามารถออกแบบพื้นที่การเล่น และวันเวลาได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการจัดชั่วโมงเล่นหรือวันเล่นในโรงเรียน หรือจะบูรณาการการเล่นเข้ากับเนื้อหาการเรียนการสอนก็ได้
“หลังได้รับการอบรมให้มีความเข้าใจถึงบทบาทของการเป็นเพลย์เวิร์กเกอร์ ครูเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างชัดเจน พูดถึงเด็กว่าเด็กมีความสุข มีความรับผิดชอบและมีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น และครูก็เห็น ตัวเองว่าพวกเขาได้รู้จักเด็กมากขึ้นจากการเล่น การมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองเองก็เพิ่มขึ้นมาก” ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกกล่าว
กิจกรรมสร้างครูเป็น Play Worker
จากครูสู่ผู้ปกครองในบ้าน
หลังจากการพัฒนาครูผู้สอนให้เป็นเพลย์เวิร์กเกอร์ ก็เริ่มขยายผลไปสู่การพัฒนาพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยการสร้างทัศนคติ การส่งเสริมการเล่นกับเด็ก โดยผู้ปกครองและชุมชนเริ่มร่วมกันการพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่หย่อมบ้านเพื่อเป็นพื้นที่การเล่นอิสระที่ปลอดภัยให้กับเด็กในชุมชนขึ้นมา
ผู้ปกครองร่วมเป็น Play Worker
โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ปกครอง แนวทางการช่วยดูแลเรื่องพฤติกรรมเด็ก หรือการเก็บข้อมูลเด็กด้วยอีกแรง
“เราอยากทำงานขับเคลื่อนในรูปแบบเครือข่าย Happy Play หนองบัวลำภู ชวนกันก้าวข้ามความรุนแรงด้วยการเล่นอิสระ ในการทำงานกับเด็กเพื่อฟื้นฟูความสุข เพื่อเป็นฐานให้เด็กได้ฟื้นฟูความสุขและนำไปสู่การเก่ง ดี มีสุข ต่อไป” ประสพสุขกล่าวทิ้งท้าย
การเล่นช่วยสร้างความสุข
#####
ขอบคุณภาพจาก เครือข่ายเพื่อการเล่นเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และ Happy Play หนองบัวลำภู
“หลังได้รับการอบรมให้มีความเข้าใจถึงบทบาทของการเป็นเพลย์เวิร์กเกอร์ ครูเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างชัดเจน พูดถึงเด็กว่าเด็กมีความสุข มีความรับผิดชอบและมีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น และครูก็เห็น ตัวเองว่าพวกเขาได้รู้จักเด็กมากขึ้นจากการเล่น การมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองเองก็เพิ่มขึ้นมาก”