เมื่ออยากสอนให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น
ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น คือการเข้าใจความทุกข์ยากเจ็บปวดของคนอื่น เราอาจไม่เข้าใจความทุกข์ของคนอื่นได้ทั้งหมด แต่การสอนให้เด็กรับรู้และลองทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น คือวิธีหนึ่งที่ทำให้เด็กเข้าสังคม อยู่ร่วมกับคนอื่นได้
รู้จักความหมายที่แท้จริงของ “ความเห็นอกเห็นใจ”
- ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่ความอ่อนแอ
- ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่การร้องไห้เมื่อดูละครโทรทัศน์ แต่กลับไม่รู้สึกอะไรเลยเมื่อเรื่องเดียวกันนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริงที่อาจเศร้ากว่า
- ความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่การพูดว่า “น่าสงสาร” แต่ต้องลงมือให้ความช่วยเหลือคนๆ นั้นด้วย
- ถ้าไม่มีความเข้าใจ ก็ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ
- ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียง แต่มีอยู่จริง
- ถ้าไม่มีการช่วยเหลือ ไม่เรียกว่าเห็นอกเห็นใจ
สอนอย่างไรให้เด็ก “รู้จักความเห็นอกเห็นใจ”
- ถ้าเด็กมีอารมณ์ปรวนแปร เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ผู้ใหญ่ต้องคอยหมั่นถาม เพื่อให้เด็กแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างถูกต้อง เพราะเมื่อเด็กรู้จักอารมณ์ตัวเองแล้ว ก็จะทำให้เขารู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้
- ใช้สื่อต่างๆ ช่วย เช่น เวลาดูหนังด้วยกันกับเด็ก ชวนเด็กคุยเพื่อถามถึงความเข้าใจของเด็กที่มีต่อตัวละคร และฝึกให้เด็กรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร
- ชวนเด็กทำงานอาสาสมัคร หรือออกไปทำกิจกรรมที่ไม่ต้องการผลตอบแทน เพื่อให้เด็กรู้จักความเห็นอกเห็นใจ