เมื่อคนทั้งหมู่บ้านร่วมใจ เด็กคนหนึ่งก็เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ : บทเรียนความสำเร็จจากแพร่โมเดล

 

             “ทุนจริงๆ นั่นคือทุนชาวบ้าน ทุนความสามัคคีของชาวบ้าน” คำพูดที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังของพิกุล เอี่ยมพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้าผามอก สะท้อนให้เห็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของคนในท้องถิ่น ในฐานะพื้นที่ต้นแบบของโครงการสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพนั้น ต้องอาศัยพลังของคนทั้งชุมชนร่วมกัน

 

             ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวถึงแนวทางการทำงานว่า “หัวใจของงานพัฒนาเด็กและเยาวชนคือการหนุนเสริมการทำงานของพื้นที่ให้เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการมีทีมสนับสนุนการทำงานตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต และครอบครัวที่อยู่ในแวดล้อมเด็ก ที่พร้อมจะเอื้อให้พื้นที่เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

             จุดเปลี่ยนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

             เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นในปี 2560 จากความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มพลังโจ๋ สยาม ปัญญาทา ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบต.ต้าผามอก เล่าถึงจุดเริ่มต้น:

             “ตอนได้ร่วมงานกับกลุ่ม พลังเด็กและเยาวชนพื้นที่แพร่-น่าน เราเห็นว่าน่าจะเป็นโครงการ และเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในตำบลต้าผามอก เราเริ่มจากการคัดกรองเด็กในกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาสเพื่อให้การช่วยเหลือในขั้นต้น”

             การทำงานอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชน โดยใช้แนวคิดชุมชนนำที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ สยามเน้นย้ำว่า “เราทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เอาแนวนโยบายมาทำงาน เพราะบางครั้งข้อกำหนดของกฎหมายมันลำบาก ถ้าอิงข้อกฎหมายมันไม่ยืดหยุ่น เราต้องใช้ใจในการทำงาน”

 

             การยอมรับความจริงและการลงมือแก้ไข

             จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อชุมชนค้นพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) เนาวรัตน์ ใจตั้ง สมาชิกสภา อบต.แม่ยางฮ่อ เล่าถึงประสบการณ์ตรง:

             “ตอนแรกเราก็รับไม่ได้ ต้องมาศึกษา มาเรียนรู้ พอเปิดเผยตัวเองแล้วถึงจะรู้ว่าทุกคนก็เป็น แต่มันไม่ได้เลวร้าย มันไม่ถึงกับเลวร้าย แต่ไม่ควรปล่อยปละละเลย ผู้ปกครองต้องยอมรับ ญาติพี่น้องปู่ย่าตายายต้องยอมรับ และยอมแก้ไข ถ้าเราไม่แก้ไข เด็กก็จะติดไปตลอด อารมณ์ สมาธิเขาไม่ได้ พอสมาธิไม่ได้ เติบโตขึ้นมาเขาก็เป็นวัยรุ่นที่สู่สังคมอย่างไม่มีคุณภาพ”

 


             ระบบช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม

             การค้นพบปัญหานำไปสู่การพัฒนาระบบช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม โดยมีโรงเรียนเป็นด่านแรกในการคัดกรอง ดร.สุวิทย์ แบ่งทิศ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ยางเปี้ยว อธิบายระบบการทำงาน:

             “เรามีคุณครูที่ผ่านการอบรมคัดกรอง 3 ท่าน คัดกรองเบื้องต้น แล้วถ้าพบปุ๊บเราก็ทำโครงการส่งต่อให้วิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ สิ่งสำคัญคือแต่ละคนจะมีแผนการสอนส่วนตัว แยกกัน สมมติว่าเด็กชายก๊อต เขียนหนังสือไม่ได้แต่อ่านรู้เรื่อง ก็มีแผนอีกอย่าง เด็กชายขออ่านไม่รู้เรื่องแต่เขียนได้ ก็มีแผนเฉพาะของตัวเอง หนึ่งคนต่อหนึ่งแผน”

             การทำงานไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่ยังต้องทำงานกับผู้ปกครองด้วย ดร.สุวิทย์เล่าว่า “เราจัดประชุมผู้ปกครองก่อนเปิดภาคเรียน แยกห้องเฉพาะสำหรับผู้ปกครองเด็ก LD (Learning Disorder-โรคการเรียนรู้บกพร่อง) เพราะห้องนี้แอลดีหมดทุกคน ก็แยกคุยกันทีเดียวเลย บางครั้งคนหนึ่งไม่เข้าใจ แต่เพื่อนข้างๆ เข้าใจ ก็ช่วยกันอธิบาย ฟังแบบเข้าใจของผู้ปกครอง”

 

             นวัตกรรมทางสังคมเพื่อการเข้าถึงการศึกษา

             หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจคือการพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน สยาม ปัญญาทาเล่าถึงแนวคิด:

             “ผมทำโครงการหลอกน้องกินนม หลอกน้องขึ้นรถกินนม เป็นภาษาเหนือก็คือ ‘จุ๊น้องกินนม จุ๊น้องขึ้นรถกินนม’ ไปโรงเรียน เราซื้อรถมาทำเป็นรถโรงเรียน แต่ก่อนผมทำเป็นรถบิ๊กเมาส์ เอารถตู้เก่ามาทำเป็นแบบรถรางที่เที่ยวในสวนสัตว์ ให้ช่าง อบต.เพ้นท์สีเป็นการ์ตูน จากเด็กไม่ไปโรงเรียน พอมีรถรับส่งแล้วได้กินนมด้วย เด็กก็อยากไปโรงเรียน”

 

             พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้

             นอกจากการพัฒนาระบบการศึกษา ชุมชนยังได้พัฒนา “ลานเล่นชุมชน” ที่เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน นายกพิกุลอธิบาย “พื้นที่นี้ที่เราคาดหวังไว้ เราไม่ได้ทำเฉพาะเด็ก เราจะทำตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น พ่อแม่ และปู่ย่าตายาย เพราะเมื่อเขามาส่งลูกหลาน เขาก็อยากจะลองเล่น ลองทำ เผลอๆ เขาก็จะได้ออกกำลังกายไปด้วย”

 

             ผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจ

             การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจนในหลายมิติ ดร.สุวิทย์เล่าว่า “อันดับแรกที่ผมเห็นคือ เด็กอารมณ์ดีขึ้น สนุกกับการเรียน เพราะเราไม่ได้เน้นแต่วิชาการอย่างเดียว แต่พัฒนาควบคู่ไปกับด้านอื่นๆ ด้วย เด็กชอบมาโรงเรียนมาก ไม่เคยขาดเรียนเลย โดยเฉพาะเด็กหญิงคนหนึ่งที่เป็น LD ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เคยขาดเรียนเลยตลอดปี”

             นายกพิกุลเสริมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด “เราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ยกตัวอย่าง น้องมะนาวเมื่อก่อนจะไม่ไปไหนเลย จะเล่นแต่โทรศัพท์ แต่ตอนนี้พอกลับมาปุ๊บ จะบอกว่า ‘แม่พาหนูมาตรงนี้หน่อย’ แล้วก็ได้น้องเขาอีกคนที่จากพัฒนาการที่ไม่เดิน ตอนนี้ก็หัดเกาะเดินได้แล้ว”

 

             มองไปข้างหน้า: ความท้าทายและโอกาส

             จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับพื้นที่มากว่า 10 ปี ผู้อำนวยการณัฐยาสะท้อนว่า “ชีวิตเด็กหนึ่งคนแทบจะทุกช่วงเวลา ต่างก็อยู่กับครอบครัว ถ้าครอบครัว ชุมชนเข้มแข็ง ก็จะสามารถช่วยเหลือครอบครัวเด็กเปราะบางได้ เช่นแนวทางการทำงานเรื่องเด็กและครอบครัวของจังหวัดแพร่ คือ ‘ชุมชนนำ จังหวัดหนุน’ จังหวัดแพร่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ คือ วิเคราะห์ข้อมูล แยกประเภทเด็ก เขียว เหลือง แดง และมีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกโดยมีการใช้ข้อมูลเป็นฐานหลักในการทำงาน”

             สยาม ปัญญาทา สะท้อนมุมมองเพิ่มเติมว่า “ถ้าผู้บริหารสนใจเรื่องนี้ คะแนนเสียงท่วมท้นเลย การช่วยเหลือตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างแท้จริง”

             อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายสำคัญโดยเฉพาะประเด็นเด็กออทิสติกที่พบจำนวนมากในหลายพื้นที่ แต่สามารถตรวจวิเคราะห์คัดกรองสถานการณ์พัฒนาการเด็กได้เพียง 25% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการต่อ คือ
             1. การสร้างความยั่งยืน: การพัฒนาระบบที่สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว
             2. การขยายผล: การนำบทเรียนและประสบการณ์ไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ
             3. การพัฒนาศักยภาพบุคลากร: การพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
 

             พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

             การดำเนินงานในจังหวัดแพร่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการทำงานแบบ “ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” โดยเริ่มตั้งแต่การชวนชุมชนและครอบครัวมาร่วมป้องกัน ส่งเสริม และพัฒนา เพื่อให้เด็กได้เติบโตอย่างมีความสุข สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม

แต่ก็ยังคงมีบทเรียนสำคัญที่นำสู่ความยั่งยืน ได้แก่
             1. การยอมรับและเข้าใจปัญหา: การเปิดใจยอมรับความจริงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา
             2. การทำงานเชิงรุก: ไม่รอให้ปัญหาลุกลาม แต่มีระบบคัดกรองและช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้น
             3. การบูรณาการความร่วมมือ: การประสานงานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในชุมชน
             4. นวัตกรรมทางสังคม: การพัฒนาวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์บริบทของชุมชน

 

             ดังที่นายกพิกุลกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าประทับใจ “เราทำไม่ใช่แค่เพื่อปีนี้ปีหน้า เราทำไว้เพื่อปีต่อไป เราต้องมีคนที่สืบทอดเราต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จะเอาสิ่งที่เราทำไว้ให้เขาเห็น เขาก็จะเดินต่อไปได้”

             ความสำเร็จของแพร่โมเดลไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นไปได้ด้วยพลังชุมชน แต่ยังเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างสังคมที่เด็กทุกคนมีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการดูแลของคนทั้งชุมชน

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ