สสส. ชูแนวทางการปกป้องคุ้มครองเด็กและครอบครัวในระดับตำบล ด้วย “ชุมชนนำ ร่วมกันหาทางออก” จากการลงพื้นที่เรียนรู้ “ครอบครัวยิ้ม เทศบาล ต.สิริราช จ.ลำปาง”
เด็กทุกคนในชุมชนต้องได้รับการดูแล” คือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส.
ดังนั้น ในการทำงานเพื่อผลักดันให้เกิด “ชุมชนต้นแบบ” จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือของหลาย ภาคส่วน โดยเริ่มตั้งแต่ในระดับตำบล โดยหน่วยที่สำคัญที่สุดก็คือ “คนในชุมชนเอง” ที่ต้องมีข้อมูลของเด็กทุกคนในตำบลตนเอง และมีกระบวนการรับรู้สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกันคนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวเปราะบาง
จากการสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่ทำงานในพื้นที่ พบว่าหนึ่งในรูปแบบและแนวทางการทำงานที่ตอบโจทย์นี้ได้ชัดเจนที่สุด คือ กลไกการทำงานของ “คณะทำงานครอบครัวยิ้ม” ซึ่งดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัวในชุมชนระยะที่ 2 โดยมี สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ให้การสนับสนุน
ด้วยเหตุนี้ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงได้ร่วมกับคณะทำงาน “ครอบครัวยิ้มลำปาง” ติดตามการดำเนินงาน และร่วมเรียนรู้การนำเสนอรูปแบบการขับเคลื่อนงานจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของเทศบาลตำบลสิริราช (สันดอนแก้ว) อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ “ตำบลต้นแบบ” โดยมีทีมงานจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พม. เข้าร่วมเรียนรู้ในเวทีดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566
บันได 3 ขั้น คณะทำงานเพื่อเด็กและครอบครัวเปราะบาง
สำหรับการขับเคลื่อนงาน “ครอบครัวยิ้ม” จังหวัดลำปาง ในระหว่างปี พ.ศ.2562- 2566 ทางจังหวัดจึงได้ประสานไปยังแต่ละตำบลได้มีคณะทำงาน ประกอบด้วยภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย หลังจัดตั้งคณะทำงานแล้ว ก็มีการสร้างความเข้าใจให้แต่ละพื้นที่ได้ทำงานบนฐานข้อมูลที่แท้จริง
หลังจากผู้บริหารเทศบาลตำบลสิริราช (สันดอนแก้ว) รับทราบข้อมูลโครงการฯ จึงจัดประชุมร่วมกับคณะทำงาน เพื่อกำหนดบทบาท หน้าที่ของคณะทำงาน พร้อมสร้างเครือข่ายการทํางาน ทั้งหน่วยงานฝ่ายปกครอง หน่วยงานด้านการศึกษานับตั้งแต่ระดับปฐมวัยขึ้นไป หน่วยงานด้านสาธารณสุข ไปจนถึงประชาชนในตำบลทั้ง 9 หมู่บ้าน ก่อนจะแบ่งการขับเคลื่อนงานออกเป็น 3 ระยะคือ
ระยะที่ 1 การพัฒนาฐานข้อมูล ใช้กระบวนการลงไปเรียนรู้และเยี่ยมบ้าน เพื่อให้รู้จักเด็กทุกคน ผ่านการทำแบบสอบถามที่คณะทำงานช่วยกันออกแบบขึ้นมา และหาคนทำงานให้เจอ เป็นกลุ่มคนที่เกาะติด และอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว
ระยะที่ 2 การเข้าไปทำงานในระดับตำบลมากขึ้น เกิดการลงทุนร่วมกับท้องถิ่น เป็นงานของชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งคนภายนอกและคนในพื้นที่
ระยะที่ 3 การเก็บข้อมูล เพื่อติดตามและทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่างการทำงาน “ใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือเด็กหนึ่งคน” โดยมีชุมชนนำ
นอกจากการแบ่งหน้าที่ การกำหนดแนวทางการดำเนินงานแล้ว คณะทำงานครอบครัวยิ้มใช้วิธีการพูดคุยหารือกันในกลุ่มคณะทำงานเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่การทำงาน ซึ่งในเรื่องนี้ ตัวแทนนักพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลสิริราช (สันดอนแก้ว) จ.ลำปาง ได้นำเสนอให้ผู้เข้าร่วมเวทีติดตามให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นถึงรายละเอียดของการทำงานว่าหลังจากคณะทำงานได้รับทราบข้อมูลของโครงการ ครอบครัวยิ้ม ว่าช่วงแรกเคยวางแผนว่าจะนำร่องแค่บางหมู่บ้านก่อน แต่หลังหารือกันในคณะทำงาน ของชุมชนแล้ว เห็นตรงกันว่าควรขยายการทำงานให้ครบทุกหมู่บ้าน เพื่อประโยชน์ต่อเด็กและ ครอบครัวเปราะบาง
“เดิมทีเราเป็นศูนย์พัฒนาครอบครัวที่ตั้งมานานแล้ว จากการรวมกลุ่มของ อสม. ในพื้นที่
ก็อยากจะดำเนินงานครอบครัวยิ้มให้ครอบคลุมเริ่มจากการลงพื้นเก็บข้อมูลทั้ง 9 หมู่บ้าน 5 ตําบล แบ่งสีครอบครัวต่างๆ ไม่ใช่แค่ 3 สีหลัก เขียว เหลือง แดง เพราะเด็กบางคน บางครอบครัว ก็อาจจะเข้าเกณฑ์สีเขียวอ่อน เหลืองเข้ม หรือแดง ก็มีทั้งแดงอ่อน แดงเข้ม สังเคราะห์ข้อมูล และร่วมกันหา แนวทางแก้ไข” นักพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลสิริราชกล่าว
เมื่อสำรวจเด็กทุกคนในตำบลแล้ว ก็จะแยกเด็กตามกลุ่มความเเสี่ยงเด็กและครอบครัวเป็นสีเขียว เหลือง และ แดง แล้วนั้น หากพบเด็กใน ครอบครัวเปราะบางที่อยู่ในกลุ่มสีแดง ก็จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือตามกลไกชุมชนในพื้นที่ เพื่อแก้ไข ปัญหาประสานงาน และส่งต่อทันที
เช่น กรณีการสํารวจพบเด็กหญิงอายุ 12 ปี ถูกพ่อเลี้ยงล่วงละเมิด โดยให้การช่วยเหลือแบบลับ มีการประเมินสุขภาพจิตทั้งแม่และเด็ก ประสานงานส่งต่อ เพื่อให้เด็กออกจากบ้านที่มีความเสี่ยง ย้ายไปเรียนโรงเรียนประจํา ส่วนในช่วงปิดเทอมจะไปพักที่บ้านพักเด็กเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก
จากนั้น คณะทํางานจึงช่วยเหลือทั้งครอบครัว โดยพาแม่ของเด็กไปตรวจร่างกาย และสมัครงานโรงงาน เพื่อสร้างอาชีพ มีรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองและลูก โดยไม่ต้องพึ่งพาสามีอีกต่อไป
การทำงานในรูปแบบกลไกของ “ครอบครัวยิ้ม” ทำให้ชุมชนเองก็ได้เรียนรู้และตระหนักถึงปัญหา การล่วงละเมิดเด็กและเยาวชน เริ่มตระหนักถึงการช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่อง ดูแลทั้งบุตรหลานตนเอง และบุตรหลานของคนในชุมชน จนเกิดเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังในระดับชุมชนขึ้น
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ชุมชนนำ ร่วมกันหาทางออกที่สอดคล้องกับแต่ละปัญหา” จึงจะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า “เด็กทุกคนต้องได้รับการดูแล” เป็นจริงขึ้นมาได้
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมถึงกระบวนการทำงานในรูป “ครอบครัวยิ้ม” ได้จากบทความ ถอดบทเรียน “ครอบครัวยิ้มจังหวัดลำปาง” กับการทำงานแบบ “ใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือเด็ก”
ขั้นตอนของการทำงานแบบ “ชุมชนนำ” ของ “ครอบครัวยิ้ม”
1.คณะทำงานและชุมชนต้องตระหนักถึงความเดือดร้อนหรือปัญหาความทุกข์ของเด็กและครอบครัว เปราะบาง
2.คณะทำงานและคนในชุมชนมีแรงจูงใจในการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวเปราะบาง มีความตั้งใจ ในการแก้ไขปัญหาอย่างแน่วแน่และทันท่วงที
3.ทีมชุมชนมีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก
4.คณะทำงานในชุมชนสามารถออกแบบวิธีการทำงานอย่างเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่
5.การดำเนินงานของคณะทำงานช่วยสร้างการเรียนรู้ในพื้นที่ และชวนคนในชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเด็กและครอบครัวเปราะบางได้
6.การใช้ทรัพยากรในชุมชนเป็นหลัก พิจารณาจากต้นทุนที่มีอยู่แล้ว อาทิ ด้านงบประมาณ หรือด้านบุคลากรต่างๆ
7.หน่วยงานภายนอก ไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปดำเนินงานเองทั้งหมด แต่จะมีหน้าที่กระตุ้นหนุนเสริม การทำงานของกลไกคณะทำงานในพื้นที่