
สค. จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลภายในครอบครัว ภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติ โดยมี สสส. เข้ารับรางวัลในประเภทหน่วยงานองค์กร
องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) เป็นต้นมา ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จัดงานเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และกระตุ้นให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ยุติความรุนแรงเป็นประจำทุกปี
สำหรับปีนี้ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ประธานการจัดกิจกรรม พร้อมด้วยนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะผู้จัดงานรณณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลภายในครอบครัว ได้กำหนดแนวคิดรณรงค์ “R-E-S-P-E-C-T คือ สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” พร้อมประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย 30 หน่วยงาน เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว 7 ข้อ ดังนี้
1.การเสริมสร้างทักษะความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
2.สนับสนุนการเสริมพลังให้แก่สตรี โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำความรุนแรง
3.ผลักดันการจัดบริการที่ดีและเข้าถึงง่ายให้แก่สตรีและครอบครัว
4.สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัว
5.สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเหมาะสมในชุมชนและสังคม
6.การป้องกันและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
7.การเคารพและยอมรับความแตกต่าง และการสร้างทัศนคติที่ดี ความเชื่อที่ถูกต้อง
ในงานยังมี พิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ “บุคลากร/หน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
สำหรับประเภทหน่วยงานองค์กร 5 รางวัล ที่ได้รับโล่ ได้แก่
1. สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ
2. สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
4. มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
5. มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนาระบบนิเวศน์ สร้างปัจจัยแวดล้อมทางสุขภาพ (Social Determinant of Health) รวมถึงสร้างกระแสทางสังคมในหลายรูปแบบเพื่อรองรับการเติบโตของเด็ก เยาวชนให้เป็นพลเมืองเข้มแข็งและมีสุขภาวะที่ดีจนเติบใหญ่
ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อร่วมป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกระดับ สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) พัฒนางานร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนากลไกและนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงบนฐานเพศและความรุนแรงในครอบครัว การจัดตั้งรูปแบบนำร่องศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีศักยภาพในส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีของครอบครัวผ่านกลไกของชุมชน การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองและขยายโอกาสให้ผู้ปกครองและครูสามารถเข้าถึงความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการเลี้ยงดูเด็กให้สามารถปรับตัวได้ในโลกยุคใหม่ที่มีความผกผันแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ร่วมพัฒนาโปรแกรม หลักสูตร และนวัตกรรมที่ช่วยงานปกป้องคุ้มครองเด็กในครอบครัวครัวเปราะบาง นวตกรรมที่สร้างเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว เช่น แชทบอทใจดี คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน โปรแกรมเน็ทป๊าม๊า ชุดโปสเตอร์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการตามช่วงวัยโดยเน้นการใช้วินัยเชิงบวกในการเลี้ยงดูเด็ก ไปจนถึงการผลิตสื่อที่มีเนื้อหาให้ความรู้ วิธีการง่ายๆ สำหรับครอบครัวในการเลี้ยงดูเด็กเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ทั้ง Facebook, TikTok, Instagram และ Twitter ในชื่อ HappyChild
ขอบคุณภาพข่าวจาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว