รู้จักภาคีเครือข่ายภายใต้กลุ่มแผนงานสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
ความสำคัญของการสร้างพื้นที่เรียนรู้
เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยประสบปัญหาที่แตกต่างกันไปตั้งแต่พัฒนาการ โภชนาการ ไปจนถึงสุขภาพจิต การเลี้ยงดูแบบมีส่วนร่วมระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาวะเด็ก หากรูปแบบการเลี้ยงดูในครอบครัวทำให้เกิดบาดแผลทางใจกับเด็ก เช่น การใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจา กาย ก็จะส่งผลต่อเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไปตลอดชีวิต
ความมุ่งหวังของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ในการสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้ คือ มุ่งให้เกิดทั้งนิเวศการเรียนรู้ และนิเวศสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อขยายโอกาสให้เด็ก/ผู้ปกครอง/ครูเข้าถึงความรู้และทักษะเพื่อการพัฒนาเด็กในโลกยุคใหม่ และมีแนวทางการเลี้ยงดูเด็กผ่านพื้นที่เรียนรู้ที่มีรูปแบบไร้รอยต่อเพื่อสามารถส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กทุกช่วงวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่นได้พัฒนาตนเองผ่านพื้นที่เรียนรู้ จึงสามารถเกิดได้ทุกที่ตั้งแต่ในบ้าน รอบบ้าน ในโรงเรียน ในชุมชน รวมทั้งพื้นที่เรียนรู้ออนไลน์
การสร้างพื้นที่เรียนรู้ภายในครอบครัว ในชุมชน ต้องเป็นพื้นที่รอบตัวเด็ก สามารถมีรูปแบบที่หลากหลาย ไหลลื่น พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของตัวเด็ก โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว บนความเชื่อมั่นว่ารูปแบบการเรียนรู้ใหม่นี้จะช่วยให้เด็กมีสุขภาวะได้
หัวใจสำคัญของการออกแบบพื้นที่เรียนรู้แบบนี้จึงต้องมีชุมชนเข้ามาสนับสนุน เป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนรับรู้และร่วมออกแบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสามารถช่วยให้เกิดการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนได้ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ
และภาคีเหล่านี้ คือตัวอย่างของเครือข่ายที่ดำเนินงานภายใต้กลุ่มแผนงานสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้
คนรุ่นใหม่กับการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อสังคมสุขภาวะ
เป็นโครงการที่ทำงานกับ 5 พื้นที่ ได้แก่ แม่แจ่ม (เชียงใหม่) แม่ทา (ลำพูน) เวียงสระ (สุราษฎร์ธานี) โขงเจียม (อุบลราชธานี) และภูซาง (พะเยา) โดยใช้การวิจัยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยวิเคราะห์และออกแบบการทำงาน
จุดเด่นของพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ฯ เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่าย โดยใช้ทรัพยากรในชุมชนเป็นต้นทุนในการออกแบบ จึงต้องทำการสำรวจข้อมูลฐานชุมชนว่ามีใครอยู่ในชุมชนของตัวเองบ้าง แต่ละวัยมีจำนวนเท่าใด เป็นกลุ่มเด็กแบบไหน
เมื่อได้ฐานข้อมูลแล้ว ก็นำมาออกแบบซึ่งแนวทางหลักของการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กโตจะเน้นเรื่องทักษะอาชีพที่สามารถนำไปใช้ในการดูแลตนเอง ส่วนในเด็กเล็ก ก็จะเป็นการออกแบบการเล่นแบบอิสระ
หลังจากนี้ จะมีการต่อยอดโดยพัฒนาพื้นที่เดิมทั้ง 5 แห่ง ว่าจะขึ้นไปสู่ระดับใดบ้าง และถ้าคนรุ่นใหม่จะใช้ชีวิตในชุมชนตนเอง จะสามารถอยู่ได้อย่างไร ด้วยอาชีพแบบไหน
โครงการฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เล่นเปลี่ยนโลก ทำความรู้จักเพิ่มเติมที่นี่ https://web.facebook.com/letsplaymoreTH
บางกอกนี้ดีจัง
เป็นกลุ่มเครือข่ายชุมชนที่รวมคนทำงานทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่ข้าด้วยกัน โดยใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมร้อย เน้นกระบวนการทำงานที่ให้ชุมชนเข้ามาแก้ไขปัญหาของตนเอง
ปัจจุบัน การทำงานในพื้นที่ กทม. เป็นการทำงานแบบร่วมกัน โดยใช้ทรัพยากรของ กทม. ใน 50 เขต ผ่านพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องสมุด สวนสาธารณะ ศูนย์เยาวชน พื้นที่รกร้าง
การทำงานกับ กทม. จึงเป็นการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ไปด้วย เพราะต้องทำให้เข้าใจว่าแนวทางการพัฒนาเด็กเป็นอย่างไร ตั้งแต่การรื้อระเบียบการใช้สวนสาธารณะเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการออกกำลังกาย การใช้พื้นที่ในห้องสมุดให้มีกิจกรรมที่มากกว่าการให้นั่งอ่านหนังสือ การออกแบบพื้นที่เล็กๆ ที่อยู่ใกล้ชุมชน ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ขนาดเล็ก และมีกิจกรรมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย
ทำความรู้จักเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3DYi4Fb
พื้นที่นี้ดีจัง
เครือข่ายการทำงานทั้งแบบแนวลึกเพื่อสร้างเด็กให้เป็นนักพัฒนาที่สามารถเติบโตและขับเคลื่อนชุมชน ตลอดจนแนวกว้างกับการสร้างเครือข่ายที่ทำงานด้วยพลังบวก เน้นการใช้เครื่องมือที่สอดคล้องกับกลุ่มวัย จึงมีความหลากหลายมาก รวมทั้งพื้นที่ที่เกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือใต้ถุนวัด
ที่สำคัญ การเรียนรู้ในพื้นที่นี้ดีจังจะเชื่อมโยงกับปัญหาของชุมชนในพื้นที่นั้น เช่น นิคมอุตสาหกรรมจะนะ การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือการทำงานร่วมกับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น
รูปแบบการทำงานพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่นีดีจัง จึงเป็นการทำงานที่ไม่มีข้อจำกัด ขอให้เป็นพื้นที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จากกิจกรรมที่สร้างสรรค์
ประเด็นสำคัญคือ ต้องทำงานได้กับทุกคนทุกวัย และทำงานได้กับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ขึ้นกับความพร้อมของหน่วยงานนั้น
การทำงานกับท้องถิ่น ต้องขับเคลื่อนผ่านนโยบาย เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกฎ ระเบียบที่ถูกกำหนดไว้ หากทลายกฎได้ ก็จะทำงานง่ายขึ้น และได้ผลจริง การออกแบบกิจกรรมต้องเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้จริง จึงจะได้ผล
ทำความรู้จักเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://web.facebook.com/DjungSpaceFans/?_rdc=1&_rdr
เรียบเรียงจาก เวทีประชุมสานพลังเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ เด็ก เยาวชน และครอบครัว (Connect Circle) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 ณ ห้องประชุมอัปสรา 2 โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต