ฝันใหญ่…. ของเด็กชายขอบ เสียงเยาวชนย้ำเตือนสังคมว่า “อย่าทิ้งเราไว้ข้างหลัง”

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซอยงามดูพลี ถนนพระรามสี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาธร กรุงเทพมหานคร สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) ได้จัดงาน ThaiHealth Youth Solutions ขึ้น เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ โดยณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักฯ  ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อสร้างพื้นที่สื่อสารให้คนรุ่นใหม่ได้พูดคุยกับสังคมในประเด็นสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ถูกจัดเป็น “เด็กชายขอบ”

THAIHEALTH YOUTH SOLUTIONS จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อสร้างพื้นที่สื่อสารให้คนรุ่นใหม่ได้พูดคุยสะท้อนไปยังสาธารณะ ทั้งในประเด็นสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ยังเป็นปัญหาและต้องการให้สังคมมีส่วนร่วมช่วยเหลือ โดยมีจุดเน้นในประเด็น “พลังของเด็กชายขอบ” ซึ่ง สสส. เล็งเห็นว่า เยาวชนกลุ่มเปราะบางและอยู่ชายขอบของสังคม เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัว มีความเข้มแข็งอยู่ภายใน

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี
ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. 

ในการจัดงานครั้งนี้  มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ฝันใหญ่ไปด้วยกัน” ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มเด็กชายขอบต่างๆ  ได้แก่ กลุ่มลูกเหรียง (สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้), กลุ่มเยาวชนรักษ์ไทยเพาเวอร์ทีน จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มสหทัยมูลนิธิ ภาตใต้, กลุ่มสีลัต บ้านพิราบขาว เครือข่ายเยาวชนชายแดนใต้, กลุ่มพลังโจ๋ (ศูนย์สร้างสรรคเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่), กลุ่มนกหลงลม มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย และตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย  โดยมีกษมา สัตยาหุรักษ์ นักวิชาการผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา 

ในการเสวนา ตัวแทนเยาวชนได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ถือเป็นบาดแผลของแต่ละคนในฐานะที่ถูกจัดให้เป็น “เด็กชายขอบ” ซึ่งหมายถึงกลุ่มเยาวชนที่อยู่ห่างไกลจากความสนใจทั้งจากสื่อและสังคม ประสบอุปสรรคปัญหาจากทัศนคติ การเหมารวม ตีตรา ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตเช่นวัยรุ่นทั่วไปได้  แต่ด้วยการช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่น ส่งผลให้เยาวชนแต่ละคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจ และยังร่วมช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ประสบภาวะใกล้เคียงกันได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

วสันต์ รสชะเอม (อาร์ม) ตัวแทนจากกลุ่มพลังโจ๋ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่อยู่นอกระบบ ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ในช่วง ม.2 เทอม 1  เนื่องจากรับไม่ได้กับการที่ครูโกนหัวของตนเนื่องจากทรงผมผิดระเบียบ  ประกอบกับตนติดกลุ่มเพื่อนด้วยในขณะนั้น จนเมื่อได้มาเข้ากลุ่มพลังโจ๋ ซึ่งทำงานกับเยาวชนที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดแพร่ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของตัวเองว่า แม้ไม่ได้เรียนจนจบ ก็ยังสามารถทำสิ่งดีๆ ได้  เช่น ช่วยชุมชนด้วยการทำงานเป็นจิตอาสา เป็นต้น

วสันต์ รสชะเอม (อาร์ม)
ตัวแทนจากกลุ่มพลังโจ๋

ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเนื่องจากรับไม่ได้กับการที่ครูโกนหัวของตนเนื่องจากทรงผมผิดระเบียบ เมื่อได้มาเข้ากลุ่มพลังโจ๋ ซึ่งทำงานกับเยาวชนที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดแพร่ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของตัวเองว่า แม้ไม่ได้เรียนจนจบ ก็ยังสามารถทำสิ่งดี ๆ ได้

พิมพ์พิศา  จินดาอินทร์ (นิวเคลียร์) กลุ่มรักษ์ไทยเพาเวอร์ทีน ซึ่งมีพื้นที่ทำงานในจังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงใหม่ในประเด็นเรื่องเพศ เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ และเรื่องการดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจาก HIV  เล่าถึงปัญหาที่ยากมากในการแก้ไขซึ่งพบเจอจากการทำงาน  คือ การที่สมาชิกในกลุ่มไม่รับยาต้าน จึงป่วยและเสียชีวิตในขณะเป็นวัยรุ่น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับเชื้อ HIV ไม่เข้ากลุ่มรับยาต้าน เนื่องจากการที่ต้องกินยาต้านมาตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ทำให้เกิดอาการเบื่อยา และถูกตีตราในตัวเองจากสังคม ทำให้ถูกเลือกปฎิบัติ ความมั่นใจของสมาชิกที่จะเข้าไปรับการรักษาจึงน้อยลง สมาชิกหลายคนเกิดจากพ่อแม่ที่ติดเชื้อ จำนวนมากจึงใช้ชีวิตเติบโตมาในสถานสงเคราะห์ เมื่อไม่เรียนแล้วหรือทำผิดกฎระเบียบสถานสงเคราะห์  ก็ถูกให้ออกจากสถานสงเคราะห์ ทำให้เกิดประเด็นทับซ้อน เมื่อไม่มีเป้าหมายในชีวิต ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร ไม่รู้ว่าความมั่นคงของชีวิตอยู่ตรงไหน ไม่มีครอบครัว ไม่มีที่อยู่ บางคนที่อายุน้อยเกินไป ก็ไม่สามารถทำงานได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางซ้ำซ้อนที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับเชื้อ HIV ไม่เข้ากลุ่มรับยาต้าน เนื่องจากเกิดอาการเบื่อยา สมาชิกจำนวนมากใช้ชีวิตเติบโตมาในสถานสงเคราะห์ เมื่อไม่เรียนแล้วหรือทำผิดกฎระเบียบ ก็ถูกให้ออกจากสถานสงเคราะห์ ทำให้เกิดประเด็นทับซ้อน เมื่อไม่มีเป้าหมายในชีวิต ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร ไม่มีครอบครัว ไม่มีที่อยู่ บางคนก็ไม่สามารถทำงานได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางซ้ำซ้อนที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ

พิมพ์พิศา จินดาอินทร์ (นิวเคลียร์)
กลุ่มรักษ์ไทยเพาเวอร์ทีน

รัตนา  เจ๊ะมะหมัด (น้ำ) กลุ่มสหทัยมูลนิธิ ภาคใต้ ซึ่งเป็นแม่วัยรุ่น ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการเข้ามาเป็นสมาชิกและรูปแบบการทำงานของกลุ่มว่า เธอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มตั้งแต่ตอนที่คลอดลูกในวัย 17  ปี (ปัจจุบันเธออายุ 20 ปี) โดยเธอรู้จักกับกลุ่มสหทัยมูลนิธิ จากการแนะนำของนักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาล ซึ่งอุปสรรคที่ตนต้องเผชิญก่อนที่จะมาเข้ากลุ่มก็คือ การที่สังคมไม่ให้โอกาส โดนปรามาสจากคนรอบข้างว่าท้องตั้งแต่เรียนไม่จบ ซึ่งกลุ่มสหทัยมูลนิธิ ช่วยให้เธอผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ ด้วยการให้คำปรึกษาในเรื่องการคุมกำเนิด การวางแผนอนาคตครอบครัว และวางแผนทางการเงิน  ช่วยให้เธอมีกำลังใจและเข้มแข็งขึ้นมากในการหารายได้เพื่อสร้างครอบครัวและการมีชีวิตอยู่    

รัตนา เจ๊ะมะหมัด (น้ำ)
กลุ่มสหทัยมูลนิธิ

ภาพของการเป็นแม่วัยรุ่น ทำให้โดนปรามาสจากคนรอบข้างว่าท้องตั้งแต่เรียนไม่จบ ซึ่งกลุ่มสหทัยมูลนิธิ ช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นด้วยการให้คำปรึกษาทั้งการคุมกำเนิด การวางแผนอนาคตครอบครัว และวางแผนทางการเงิน  จึงมีกำลังใจและเข้มแข็งขึ้นมาก สามารถมีอาชีพหารายได้ สร้างครอบครัวและมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข

มูฮาหมัด  อุมะ (มะ) เยาวชนตัวแทนกลุ่มสีลัต ได้เล่าถึง “กลุ่มสีลัต” ว่าคือกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนหลักจากบ้านพิราบขาวที่ทำงานกับเยาวชนนอกระบบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบสังคม หรือระบบแรงงาน  ซึ่งตนเองก็เป็นเยาวชนที่ถูกสังคมตราหน้ามาก่อนว่าไม่สามารถกลับเข้ามาสู่สังคมได้ จึงรวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อทำงานในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปรียบเทียบกลุ่มของตนก็เหมือน “ถุงดำ” เอาไว้ใส่ถังขยะ และยิ่งถ้าเป็นถุงดำที่ถูกวางเอาไว้ข้างทางในบริเวณสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็จะยิ่งเป็นที่น่าสงสัยเข้าไปอีก ดังนั้น เป้าหมายของกลุ่มก็คือ การสร้างคุณค่าในตัวเยาวชนให้เห็นว่า “ถุงดำใบนี้” ก็มีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม โดยใช้จุดเด่นของกลุ่มก็คือ ศิลปะการต่อสู้แบบปันจักสีลัต เป็นเครื่องมือช่วยดึงเยาวชนเข้ามาฝึกและช่วยให้สร้างรายได้ขึ้นมา ทำให้เยาวชนเลิกยาเสพติด และกลายเป็นที่นับถือของชุมชน สามารถรับงานแสดงโชว์ทั้งไทยและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มเกิดความภูมิใจในตนเอง

เป้าหมายของกลุ่มสีลัต คือสร้างคุณค่าในตัวเยาวชนให้เห็นว่า “ถุงดำใบนี้” ก็มีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม โดยใช้จุดเด่นคือ ศิลปะการต่อสู้แบบปันจักสีลัต เป็นเครื่องมือช่วยดึงเยาวชนเข้ามาฝึกและช่วยให้สร้างรายได้ขึ้นมา ทำให้เยาวชนเลิกยาเสพติด และกลายเป็นที่นับถือของชุมชน

มูฮาหมัด อุมะ (มะ)
กลุ่มสีลัต บ้านพิราบขาว

พัดลี โตะเดร์ (พัด) ตัวแทนกลุ่มลูกเหรียง ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่าตนเองเป็นเด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีฐานะยากจน และเป็น LGBT ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้แทบจะไม่ได้รับการยอมรับเลย ในระหว่างที่ตนเรียนชั้นมัธยมนั้น เคยโดนโกนหัวจากการแสดงออกถึงเพศที่ไม่ตรงกับสรีระ และถูกสั่งให้วิ่งรอบโรงเรียน  ทำให้ตนคิดว่ากลุ่มเพศทางเลือกจะต้องเข้ามาจับกลุ่มกัน เพราะถูกมองว่าแปลกแยกจากคนอื่น ไม่มีใครคบหา  เป็นตัวประหลาด และเป็นคนบาปทางศาสนา ซึ่งตนเองรู้สึกน้อยใจมาก จึงตัดสินใจรวมกลุ่มกันเองในชื่อว่า South Peace ขึ้น ซึ่งทางกลุ่มต้องการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองเมื่อมีการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ก็ต้องการให้หน่วยงานของรัฐมีนโยบายที่จะคุ้มครองและช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ 

พัดลี โตะเดร์ (พัด)
ตัวแทนกลุ่มลูกเหรียง

กลุ่มเพศทางเลือกในสามจังหวัดชายแดนใต้มักถูกมองว่าแปลกแยกจากคนอื่น ถูกกลั่นแกล้ง ไม่มีใครคบหา เป็นตัวประหลาด และเป็นคนบาปทางศาสนา พวกเราจึงต้องหาวิธีรวมกลุ่มกันเองเพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองเมื่อมีการกลั่นแกล้งในโรงเรียน

ณัฐพงษ์  ราหุรักษ์ (ต้อม) ตัวแทนเยาวชนกลุ่มนกหลงลม มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย  ได้อธิบายที่มาของชื่อกลุ่มว่า ตั้งชื่อโดยเปรียบเทียบตัวของสมาชิกในกลุ่ม เป็นเหมือนนกหลงลม ที่บินหลงทิศหลงทาง จนวันหนึ่งถูกจับเข้ากรงขัง ซึ่งตนเป็นตัวแทนของเยาวชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดี แต่เมื่อพ้นโทษออกมา กลับประสบปัญหา แม้ภายในเรือนจำ จะมีเรื่องการอบรมอาชีพ และมีการเรียนการสอนวิชาสามัญทั่ว แต่เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วก็มืดแปดด้าน ไปสมัครงานก็ไม่สามารถทำงานได้ เพราะมีประวัติต้องโทษมาก่อน แม้จะมีการลบประวัติ แต่ก็เป็นกระบวนการที่ล่าช้ามาก คืออย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นไป  เพราะในการปล่อยตัวเยาวชนทั้งประเทศ ฐานข้อมูลทั้งหมดถูกรวมศูนย์ไว้ที่เดียว คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงทำให้ล่าช้าเป็นอย่างมาก ซึ่งตนก็ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไร จึงจะทำให้ได้รับโอกาส เพราะเมื่อออกมาสู่โลกภายนอก ตนต้องถูกคนอื่นดูถูกว่า เป็นคนมีคดีติดตัว กลายเป็นทั้งนิยามและเป็นกำแพงที่ทำให้ไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมภายนอก    

ในการปล่อยตัวเยาวชนที่ถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็นอาชญากร ฐานข้อมูลทั้งหมดถูกรวมศูนย์ไว้ที่เดียว ทำให้กระบวนการลบประวัติล่าช้า จึงอยากเรียกร้องให้กระบวนการนี้ทำได้เร็วขึ้นเพื่อให้ได้รับโอกาสในการใช้ชีวิต เพราะเมื่อออกมาสู่โลกภายนอก ตนต้องถูกคนอื่นดูถูกว่าเป็นคนมีคดีติดตัว กลายเป็นทั้งนิยามและเป็นกำแพงที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เพราะไม่มีใครรับเข้าทำงาน

ณัฐพงษ์ ราหุรักษ์ (ต้อม)
กลุ่มนกหลงลม มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย

โยธิน ทองพะวา รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในวงเสวนาว่า จากที่ได้ฟังประสบการณ์และปัญหาของเพื่อนๆ บนเวทีเสวนาแห่งนี้ ทำให้คิดว่าจำเป็นต้องสร้างพื้นที่เพื่อให้ได้สื่อสารกัน  ในอนาคตจะต้องมาคุยกัน โดยจะเชิญเพื่อนกลุ่มต่างๆ เข้ามาช่วยกันระดมความคิดว่า อยากให้กิจกรรมที่สภาเด็กฯ จัดเป็นเช่นไร โดยไม่ใช่แค่อบรมหนึ่งวันแล้วจบ  แม้สภาเด็กและเยาวชนฯ จะเป็นเสมือนตัวแทนของเยาวชน แต่ก็อาจเป็นตัวแทนที่ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องของเยาวชนได้ไม่หมด ต้องอาศัยจากข้อมูลเพื่อนทุกคนบนเวทีเสวนาด้วย เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่าตน ซึ่งตนจะขอเป็นตัวเชื่อมขันอาสา เป็นตัวกลางที่จะเอาประเด็นของแต่ละคนไปขับเคลื่อนต่อตามความจำเป็นเร่งด่วน  

โยธิน ทองพะวา
รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

จากที่ได้ฟังประสบการณ์และปัญหาของเพื่อนๆ บนเวทีเสวนาแห่งนี้ ทำให้คิดว่าจำเป็นต้องสร้างพื้นที่เพื่อให้ได้สื่อสารกัน ในอนาคตจะต้องมาคุยกัน โดยจะเชิญเพื่อนกลุ่มต่างๆ เข้ามาช่วยกันระดมความคิดว่า อยากให้กิจกรรมที่สภาเด็กฯ จัดเป็นเช่นไร โดยไม่ใช่แค่อบรมหนึ่งวันแล้วจบ

ในช่วงท้ายของการเสวนา ตัวแทนกลุ่มเยาวชนต่างๆ ได้ร่วมกันฝากความฝันของพวกเขาไว้ซึ่งมีทั้งความฝันระยะใกล้ เช่น การเรียนจบ กศน. เพื่อจะไปศึกษาต่อในระดับต่อไป ส่วนในความฝันระยะยาว แต่ละคนอยากเห็นการให้โอกาสของสังคม ไม่อยากให้มีการผลิตซ้ำความเข้าใจผิดๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเยาวชนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV, เยาวชนที่เป็นพ่อแม่วัยรุ่น, การเป็นเยาวชนนอกระบบ, การเป็นเยาวชน LGBT ในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ และการให้โอกาสจากสถานประกอบการ เพื่อให้เยาวชนที่เคยอยู่ในสถานพินิจหรือศูนย์ฝึก สามารถกลับมามีอาชีพเลี้ยงตัวได้

ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรเข้ามาเรียนรู้ความต้องการและฟังเสียงของเยาวชนกลุ่มนี้เพื่อสนับสนุนส่งเสริมได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการ เพราะเยาวชนกลุ่มนี้ต้องการเครื่องมือพิเศษ นอกจากการรับฟังแล้ว ก็ยังต้องการได้รับโอกาสเพื่อให้พลังดึงศักยภาพของเยาวชนเด็กชายขอบได้แสดงออกมาสู่สังคมด้วย ซึ่ง สสส. ยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นจุดประสาน สร้างพื้นที่กลางให้กับเยาวชนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร.นายแพทย์ สุปรีดา อดุลยานนท์
ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผศ.ดร.นายแพทย์ สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขึ้นกล่าวหลังจบเวทีเสวนาว่าศตวรรษที่แล้ว เราพัฒนากันแต่ด้านเศรษฐกิจ และทิ้งปัญหาไว้ให้กับโลกอย่างมากมาย ศตวรรษนี้คือการกลับมาแก้ปัญหาของศตวรรษก่อน และตามหาวิถีความยั่งยืน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  จึงมีคำหนึ่งที่ถูกพูดขึ้นมาว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่ง สสส. มีความต้องการให้เป็นความจริงเช่นนี้ต่อไป  ในกลุ่มเด็กชายขอบ ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรที่จะต้องเข้ามาเรียนรู้ความต้องการและฟังเสียงของเยาวชนกลุ่มนี้เพื่อสนับสนุนส่งเสริมได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่ม เพราะเยาวชนกลุ่มนี้ต้องการเครื่องมือพิเศษ ฉะนั้นสิ่งที่วงเสวนาได้สะท้อนนั้น นอกจากการรับฟังแล้ว ก็ยังต้องการได้รับโอกาส ต้องการความเข้าใจมากขึ้น และต้องการโอกาสเพื่อให้พลังดึงศักยภาพของเยาวชนเด็กชายขอบได้แสดงออกมาสู่สังคมด้วย ซึ่ง สสส. ยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นจุดประสาน สร้างพื้นที่กลางให้กับเยาวชนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง โดยถือว่าปีนี้เป็นปีแรกและจะมีต่อไปทุกปี โดยจะขยายกลุ่มเด็กชายขอบให้ได้ออกมาพบปะและรวมพลังกัน เพื่อหาทางออกที่เป็นของตนเองตามชื่องานว่า ThaiHealth Youth Solutions

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ