‘ปลูกสุข Festival’ เทศกาลงานศิลปะ – สุขภาพใจ พื้นที่ลดช่องว่างระหว่างวัย ฮีลใจคนทุกกลุ่ม
สังคมที่ประกอบด้วยคนหลายวัย เสียงจากเด็กเมื่อมีภาวะเครียด เจอเรื่องยาก ทุกข์ใจ หลายคนรู้สึกว่าคุยกับผู้ใหญ่ที่บ้านไม่ได้ ด้านผู้ใหญ่อาจมองว่าเด็กรุ่นใหม่ ทำไมถึงเลี้ยงยาก ? สะท้อนความไม่เข้าใจกันระหว่างคนต่างวัย ที่ถ่างให้ยิ่งห่างกัน สู่ปัญหาสุขภาพใจที่เก็บไว้และอาจยังหาทางแก้ไข เยียวยาไม่ได้
งาน ‘ปลูกสุข Festival’ เทศกาลศิลปะและสุขภาพใจ ย่านเมืองเก่า สงขลา จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ , บริษัท อายดรอปเปอร์ ฟิลล์ จำกัด , ภาคีเครือข่ายปลูกสุข จ.สงขลา สานพลังโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นพื้นที่ชวนชาวสงขลามาร่วมเติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย พร้อมสร้างสุขภาพใจที่แข็งแรง ผ่านหลากหลายรูปแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในเยาวชนและครอบครัว ที่ปรับให้เข้ากับบริบทของคนในพื้นที่ ที่เป็นเหมือนการรวมตัวเครือข่ายคนสงขลารุ่นใหม่อีกทาง
เราจึงได้เห็นกิจกรรมอย่างการดูหนัง การแสดงมโนราห์ ตะโกนระบายความรู้สึกไปกับท้องทะเล ดื่มด่ำงานศิลปะร่วมสมัย วงเสวนา กิจกรรมเสียงบำบัด การบอกเล่าเรื่องราวแก่อาสาสมัครช่วยรับฟังและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค. ที่ผ่านมา
แปลง Creative Space สู่พื้นที่ฮีลใจ
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) กล่าวถึง ประเด็นสุขภาวะทางจิตใจว่าที่ผ่านมา สสส.ได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านสุขภาพจิต อย่าง กิจกรรม “พาใจกลับบ้าน” มาแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามสำหรับการจัดงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึง ปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้คนที่ต้องการการเยียวยา ตลอดจนเล็งเห็นว่าผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพจิตมากขึ้น และล่าสุดกับการสนับสนุนงาน ปลุกสุข Festival ขึ้น
“ปีนี้เป็นปีแรกที่เกิดปลูกสุข Fest เราไม่ได้คาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่คือเป็นการชวนคนมาคุยเรื่องสุขภาพใจกันก่อนดีกว่าไหม เปิดบทสนทนาให้มีประเด็นนี้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ ชวนให้คนมองเห็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพใจ ที่ไม่ต้องรอนัดพบปรึกษาคุณหมอ” น.ส.ณัฐยากล่าว
และมองถึงอนาคตของการจัดงานว่าเมื่อเริ่มจัดกิจกรรมขึ้นในปีแรกแล้ว ในปีต่อๆมา จะเกิดมดงานขึ้น ซึ่งล้วนมาจากคนในพื้นที่ที่ร่วมเป็นเจ้าของงานที่ทำให้กิจกรรมมีความเข้มแข็งขึ้นต่อเนื่อง หากประชาชนทั่วไป ครู พยาบาล ที่มาร่วมกิจกรรม รู้สึกว่ากิจกรรมแบบนี้ก็ที่บ้านได้ ชวนเด็กๆ ทําที่โรงเรียนได้ จัดมุมที่โรงพยาบาลได้ ก็จะเกิดพื้นที่ฮีลใจขึ้นอีกมากมาย
“สําหรับ สสส. เรามาจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อที่จะให้เกิดแรงกระจาย ให้เกิดแรงบันดาลใจจุดประกายไอเดียต่าง ๆ เชื่อว่าศักยภาพของคนในพื้นที่จะพาเทศกาลศิลปะและสุขภาพใจแบบนี้ไปได้ไกลอย่างยั่งยืน KPI ของเราคือ ถ้ามีคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยา พ่อแม่ ครู พยาบาล นำไปทำต่อที่บ้าน ที่โรงเรียน จัดมุมฮีลใจที่โรงพยาบาล เราจะถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ” ณัฐยา บุญภักดีกล่าวถึงความคาดหวังของการจัดงาน
ศิลปะเพื่อผู้คน
สำหรับรูปแบบกิจกรรมของงานปลุกสุข Festival เกิดจากการหาอินไซด์ผ่านการล้อมวงพูดคุยหาข้อมูลจากชาวสงขลา 15 – 20 คน เพื่อสอบถามความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ไปจนถึงพฤติกรรม สู่การออกแบบกิจกรรมตลอดระยะเวลา 3 วัน ที่สนับสนุนให้คนต่างวัยได้เข้ามาใช้พื้นที่และมีช่วงเวลาดีๆ กับศิลปะร่วมกันได้
นี่คือความตั้งใจในการจัดงานปลุกสุข Festival ของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง. Eyedropper fill ที่กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลสำหรับการจัดกิจกรรมด้านสุขภาพใจนั้นพบว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่คือวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ช่วงอายุระหว่าง 18-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญแรงผลดันทางสังคม โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ประกอบกับประเด็นปัญหาด้านการเมือง ทำให้ผู้คนวัยดังกล่าวซึ่งเป็นวัยเรียนและวัยทำงานมีความกดดันต่อตนเองมากขึ้น ทำให้มีภาวะเครียด ซึมเศร้า หมดไฟ จึงมองหาแนวทางในการออกแบบกิจกรรมเกิดเป็นปลุกสุข Festival ขึ้นมาเพื่อดูแลสุขภาพใจคน
“Post-Covid หรือหลังสถานการณ์โควิด การเมืองและเศรษฐกิจที่แย่ ขาดการสนับสนุนโอบอุ้มจากครอบครัว ทําให้คนต้องสู้ความฝันหรือว่าต้องเร่งตัวเอง เกิดการกดดันตัวเองมาก ทําให้เกิดภาวะเครียดไปจนถึงซึมเศร้า ซึ่งเรื่องนี้คือประเด็นของทั้งประเทศ เพียงแต่ว่าแต่ละพื้นที่ก็มีที่มาที่ไปของปัญหาต่างกัน เราจึงเข้ามาจัดเทศกาลศิลปะที่ไม่ได้เน้นความซับซ้อนอย่างเดียว มันมีงานที่สวยๆ กิจกรรมที่ทำง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้รวมอยู่ด้วย” วรรจธนภูมิกล่าว
กิจกรรมภายในงานจึงมีความหลากหลายดังต่อไปนี้
- แลหนัง แลใจ ด้วยภาพยนตร์ 3 เรื่อง จาก 3 ประเทศ เพื่อจุดประกายบทสนทนาด้านสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว พร้อมจับเข่าคุยหลากหลายประเด็นจากภาพยนตร์ อย่าง บทบาทของความเป็นแม่ในสังคมไทย , ปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัว และบทบาทความเป็นแม่ในสังคมไทย โดย พี่เอ๋-ปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง a.e.y.space พื้นที่แสดงงานศิลปะและกิจกรรมเกี่ยวกับเมืองสงขลา
- กิจกรรม Deep Listener พื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่า และถ่ายทอด ผ่านการ์ดคำถามง่ายๆ กับอาสาสมัครที่ผ่านการเวิร์กช็อปจากทีมนักจิตวิทยา
- หลาดรวมใจ กับเวิร์กช็อปพิเศษประจำวัน อย่าง การเพนท์สร้อยเซรามิก การทำแจกัน ฯลฯ
- กิจกรรมรำร้อง คล้องใจ กับบ้านโนรา 168
- กิจกรรมทะเลใจ ฟังเสียง ฟังใจ
ด้าน เวลา อมตธรรมชาติ มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ กล่าวถึงพื้นที่จัดงานย่านเมืองเก่า จ.สงขลาอันเกิดจากการตั้งคําถามว่า สงขลาเป็นเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะ (Public Facility) อยู่มาก อาทิ ย่านเมืองเก่าที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative space) มีสนามกีฬา สวนสาธารณะ ชายหาดที่กว้างสะอาด และเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเลสาบ แต่ยังมีเด็กและเยาวชนอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันเหล่านี้ได้
จึงมีโจทย์ในการจัดกิจกรรมเพื่อดึงศักยภาพของพื้นที่ออกมาใช้อย่างเต็มที่ ผ่านงานศิลปะที่สามารถจับต้องได้ง่าย และทำได้สำหรับทุกคนในครอบครัว ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกสบายใจในการเข้าร่วมกิจกรรม และกลายเป็นงานที่จัดต่อเนื่อง ที่ในอนาคตอาจขยายความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายต่างๆ ไปถึงภาคเอกชน ภาคธุรกิจ เพิ่มระยะเวลาการจัดงานเป็น 7-9 วัน ก็เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งจนกลายเป็นงานสำคัญของ จ.สงขลาต่อไป
สำหรับผู้สนใจงานกิจกรรมของปลูกสุข Festival สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ปลูกสุข Festival
CR : ข้อมูลและภาพจาก ปลูกสุข Festival www.facebook.com/p/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-Festival-61559006247499/