ปลุกความสุข ด้วยการปลูกผัก

กินอิ่มท้อง นอนหลับสบาย

นิยามความสุขสำหรับใครหลายคน อาจจะเป็นเรื่องเรียบง่ายกว่าที่คิด แค่การได้กินอาหารอร่อยๆ จนอิ่มท้องสักนิด แล้วมีเวลานอนหลับพักผ่อนบ้างสักหน่อย ก็เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตได้แล้ว

แต่เจ้าโควิด-19 กลับทำให้เรื่องพื้นๆ ง่ายๆ นี้ ยากขึ้นมาทันที ไหนจะเป็นการใช้ชีวิตที่ลำบากขึ้นมาก ไหนเสี่ยงตกงานจากการที่ธุรกิจปิดตัวลง ไม่ต้องพูดถึงความวิตกกังวลเรื่องสุขภาพความปลอดภัย ที่ทำเอาบางคนนอนไม่หลับกันไปหลายคืน

คนปกติว่าลำบากแล้ว สำหรับครอบครัวไหนที่มีเด็กพิการต้องคอยดูแล ความลำบากอาจต้องยกกำลังไปอีกหลายเท่าเลยทีเดียว

“พวกเราถึงแม้ไม่มีโควิดก็ลำบากอยู่แล้วนะ เพราะบ้านไหนที่มีเด็กพิการ พ่อแม่หนึ่งคนต้องออกมาอยู่บ้านเพื่อดูแลเด็ก ช่วงนี้คนลำบาก ตกงานไม่มีงานทำ พวกเราที่ทำงานได้แค่คนเดียวเพื่อหาเลี้ยงคนที่เหลือยิ่งลำบากขึ้นไปอีก”

แม่ตุ๊ก

แม่ตุ๊ก เป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีเด็กพิการ ปัญหาหลักของครอบครัวแบบเธอคือ การที่ต้องมีคนคอยดูแลเด็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ขาดคนหารายได้ไปหนึ่งคน ซึ่งในช่วงนี้ การที่ทั้งครอบครัวต้องพึ่งรายได้หลักจากทางเดียวนั้น ถือเป็นความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง

เป็นที่มาของโครงการอาหารยั่งยืน ที่จะช่วยให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการปลูกผัก ซึ่งนอกจากจะทำให้มีวัตถุดิบดีๆ สำหรับทำอาหารทานแล้ว ยังช่วยเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญการปลูกผักเป็นกิจกรรมง่ายๆ แถมยังใช้เวลาไม่นานเหมาะสำหรับครอบครัวที่ต้องคอยดูแลเด็กพิการไปด้วย โดยมี มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว รับผิดชอบดำเนินโครงการนี้ และมีสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ให้การสนับสนุน

“มีวิทยากรมาสอนให้เราปลูกต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง กับต้นอ่อนหัวไชเท้า เขามาสอนพื้นฐานแล้วให้เราศึกษาเพิ่มจากอินเทอร์เน็ต ปลูกไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย จากที่ไม่รู้อะไรเลย ตอนนี้เรารู้เคล็ดลับแล้วว่าต้องคัดเมล็ดไม่ดีออกก่อน ไม่อย่างนั้นปลูกแล้วเมล็ดอาจเน่าได้ พวกเรายังลองเพาะโต้วเหมี่ยวจนขึ้นได้ตัดไปกินสองรอบแล้วด้วยนะ” แม่ตุ๊กเล่าให้ฟัง พร้อมทั้งชวนให้ดูกระบะโต้วเหมี่ยวที่เพิ่งตัดไปเมื่อวาน

กลุ่มปลูกผักของแม่ตุ๊ก มีสมาชิกประมาณ 5 คน ทุกคนอาศัยอยู่ในย่านสะพานสูง โดยเอาบ้านของสมาชิกคนหนึ่งที่เป็นศูนย์การศึกษาพิเศษ ใช้เป็นที่เพาะปลูกผัก ไปจนถึงโรงงานแพ็กผักขนาดย่อมๆ ที่จะเปิดเฉพาะในวันที่พวกเธอนัดมาเก็บเกี่ยวผลิตกัน

หลังจากแจกจ่ายให้สมาชิกกลับไปชิมผักสดที่ทุกคนช่วยกันปลูกมากับมือแล้ว พวกเธอยังได้ลองนำผักที่เหลือมาโพสต์ขายทางอินเทอร์เน็ตโดยบรรจุในแพ็กเกจสวยงาม แบ่งปันให้คนอื่นๆ ในชุมชนใกล้ๆ ได้มีโอกาสทานผักอร่อยๆ ที่พวกเธอช่วยปลูกด้วยความตั้งใจอีกด้วย

มากคนปลูก มากความสุข

นอกจากกลุ่มของแม่ตุ๊กที่ย่านสะพานสูงแล้ว ยังมีอีกหลายกลุ่มที่รวมตัวกันปลูกผัก อย่างเช่น กลุ่มของแม่เก่งที่รวมกลุ่มพ่อแม่ที่มีเด็กพิการในเขตบางพลัด กลุ่มแม่เพลินย่านบางแค หรือกลุ่มของแม่แยม ที่เป็นศูนย์กลางของผู้ปกครองที่มีเด็กพิการแถวลำลูกกา

ก่อนหน้านี้แม่แยมทำงานด้านออกแบบโฆษณา แต่ช่วงวิกฤตฟองสบู่ในปี 2540 ซึ่งเป็นจังหวะที่มีลูกพอดี เธอเลยตัดสินใจออกมาอยู่ที่บ้าน เพื่อดูแลลูกที่มีอาการลมชัก อาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร

ด้วยความที่เรียนมาทางด้านศิลปะ แม่แยมเลยมีความกล้าลองผิดลองถูก หาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเอามาใช้ในการดูแลลูกของเธอ จากตอนแรกที่คุณหมอบอกว่าเด็กน่าจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี ตอนนี้เธอเลี้ยงจนลูกของเธอเพิ่งมีอายุครบ 21 ปี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

“เราเรียนทางศิลปะมาก่อน เคยชวนพวกแม่ๆ มาทำกระปุกออมสินเปเปอร์มาเช่ พอได้ทำงานศิลปะก็สนุกและผ่อนคลายมากขึ้น ตอนนี้มาลองปลูกผักแบบนี้ก็ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายเหมือนกันนะ ลองผิดลองถูกกัน ปลูกไปกินไป เหลือก็แจกบ้าง ขายบ้าง”

แม่แยม

แม่แยมเล่าว่า กลุ่มนี้เริ่มต้นจากไม่มีใครในกลุ่มที่ถนัดเรื่องการปลูกผักมาก่อนเลย แต่ใช้ทุนตั้งต้นที่มีคือการใฝ่หาความรู้ ช่วยกันลองผิดลองถูก จนได้เทคนิคเฉพาะ แต่ให้ผลออกมาดีไม่แตกต่างจากวิธีการอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการหมักเมล็ดก่อนปลูก ที่อาศัยมือหมักประจำกลุ่ม เทคนิคการนำกระบะใส่ดินมาทับเพื่อให้เมล็ดที่งอกมีขนาดความยาวเท่าๆ กัน หรือการใช้กรรไกรแทนใบมีด ช่วยให้เก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคนิคที่แม่แยมบอกว่าเป็นสำคัญที่สุด

“เทคนิคง่ายๆ ในการปลูกผักของเราคือ สามัคคีกัน เราบอกทุกคนตลอดว่าถ้าเริ่มปลูกแล้วอย่าทิ้งกันนะ เพราะแค่การเลี้ยงลูกก็เหนื่อยสำหรับทุกคนแล้ว ตั้งแต่ตื่นเช้าเราต้องทำให้ลูกทุกอย่าง ไม่รวมงานบ้านอื่นๆ ถ้ามีคนที่ปลูกแล้วเริ่มเหนื่อยเริ่มล้า มาบ้างไม่มาบ้าง อาจทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี เราเลยต้องช่วยกันมาปลูก เพราะเวลาที่ทุกคนมาจะเป็นพลังบวกให้คนอื่นรู้สึกว่าเราไม่ทิ้งกัน ยิ่งพอได้เห็นในสิ่งที่เราช่วยกันทำจากเมล็ดเล็กๆ เติบโตงอกงามขึ้นมากลายเป็นต้นอ่อนสีเขียวเต็มกระบะ ยิ่งช่วยให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเราช่วยกันทำ”

กลุ่มปลูกผักของแม่แยมที่ลำลูกกา มีอยู่ประมาณ 10 คน บางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกทุกวัน บางคนอาศัยอยู่ค่อนข้างไกลไม่สะดวกเดินทางมาบ่อยๆ ทางกลุ่มเลยตกลงแบ่งงานกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกคน บางคนสนใจเป็นพิเศษลองเอาไปปลูกทานเองที่บ้านอีกด้วย

“ตอนแรกๆ ก็มีปัญหาเยอะ อย่างเรื่องการรดน้ำที่ใช้วิธีเวียนกันทำ บางคนก็อยู่ไกลมาลำบาก ตอนนี้เรามีการแบ่งหน้าที่กัน ใช้วิธีการอาสาสมัคร เอาความสะดวกเป็นหลัก ใครตัดใครเป็นคนปลูก แต่สุดท้ายแล้วถึงแบ่งงานกันไปแล้ว แต่ทุกคนก็อยากมาเจอกันอยู่ดี เพราะเจอกันทีก็สนุกมีเรื่องคุยกันตลอด”

เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มระหว่างที่คนในกลุ่มช่วยกันทำงาน ช่วยยืนยันคำพูดของแม่แยมได้เป็นอย่างดี และทุกครั้งที่นัดเจอกัน ยังมีการนำผักสดที่เพิ่งเก็บ มาทำเป็นเมนูต่างๆ ทานด้วยกัน อย่างเอามายำปลากระป๋องรสเด็ด เป็นเครื่องเคียงส้มตำรสแซ่บ หรือผัดน้ำมันหอยหอมๆ ทานกับข้าวสวยร้อนๆ ซึ่งอาหารอร่อยๆ พวกนี้มีส่วนช่วยให้ทุกคนมีความสุขกับการปลูกผักมากยิ่งขึ้น

จากเริ่มต้นปลูกจำนวน 9 กระบะ ตอนนี้ฟาร์มเล็กๆ ของกลุ่มแม่แยม ขยายเพิ่มเป็น 24 กระบะ ตัดรอบหนึ่งได้ประมาณ 5-7 กิโลกรัม นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้แบ่งเมล็ดพันธ์ุ ดิน และอุปกรณ์การปลูก รวมทั้งไปสอนวิธีการปลูกถึงบ้าน ให้กับแม่ๆ ที่สนใจถึงบ้าน

แม่แยมบอกว่าแม้รอบหนึ่งจะได้ผักเยอะ แต่คนที่อยากกินควรพรีออเดอร์ทาง Facebook มาก่อนล่วงหน้า เพื่อจะได้ผักที่สดที่สุด แตกต่างจากผักทั่วไปในท้องตลาดไปบางครั้งเก็บมานานหลายวัน การที่ผักของกลุ่มแม่แยมคุณภาพดี แล้วยังมีการบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ที่มาของโครงการปลูกผัก ทำให้ผักของพวกเธอได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก แต่การขายผักได้เยอะเป็นเพียงความสุขเล็กๆ อย่างหนึ่งของพวกเธอเท่านั้น

“ความสุขอย่างหนึ่งที่ได้จากการปลูกผักคือสีเขียว นอกจากเราจะแค่ก้มหน้ามาเลี้ยงลูกแล้ว เรายังได้เงยหน้ามาดูผัก วันไหนที่ว่างจากการทำงานบ้านเลี้ยงลูกเราก็มาดูผักดูแลไม่ให้นกหนูมาจิกกิน แค่ได้เดินมานอกบ้านดูผักก็มีความสุข ได้เห็นสิ่งที่เราทำขึ้นมาด้วยตัวเองปลูกด้วยมือตัวเองมันเป็นความภูมิใจ บางทีเราก็ถ่ายรูปไปลงในกลุ่มแลกกันดู” แม่แยมส่งรูปผักสวยๆ ที่ถ่ายเก็บไว้ให้ดู ก่อนจะยิ้มแล้วพูดว่า

“แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่ได้ปลูกผักก็คือ เราได้บอกลูกว่าเรามีความสุขแค่ไหนที่ทำเรื่องพวกนี้”

แบ่งปันกันมีความสุข

จากที่ไม่เคยปลูกผักมาก่อน ตอนนี้แม่เก่ง ซึ่งเปิดบ้านตัวเองเป็นศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ เขตบางพลัด กำลังบรรจงเรียงต้นอ่อนผักบุ้งลงกล่องอย่างสวยงาม ไม่ต่างจากผักที่วางเรียงในซูเปอร์มาร์เก็ต

“ตอนแรกใส่ถุงแล้วไม่ค่อยสวย เลยหากล่องสวยๆ มาใส่”

ด้วยท่าทางการบรรจุอย่างคล่องแคล่วเหมือนมีอาชีพ ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าเธอเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มปลูกผักมาได้ไม่ถึง 3 เดือน

“จริงๆ ก็ไม่เคยปลูกผักมาก่อนเลยนะ พอเห็นมันงอกขึ้นมาจริงๆ ก็ตื่นเต้นไม่นึกว่ามันโตขึ้นมาจะสวยขนาดนี้ แล้วยังได้เอาผักที่ปลูกไปให้ลูกเรากิน ได้แจกญาติพี่น้อง อย่างที่บ้านก็ให้ลูกกินทุกวัน ใส่แกงจืดก็ได้ผัดผักก็อร่อย หลังจากปลูกผักเราก็ไม่ต้องไปซื้อผักจากข้างนอกเลย แล้วเรายังแบ่งไปให้เด็กพิการทุกคนที่อยู่ในกลุ่มได้กินด้วย วันนี้ก็กำลังจะเอาไปฝากน้องที่อยู่ซอยตรงข้าม”

ผักที่กลุ่มของแม่แยมที่มีกันอยู่ 9 คนปลูกนั้น มีทั้งต้นอ่อนผักบุ้ง และไควาเระ หรือต้นอ่อนหัวไชเท้า ซึ่งแต่ละชนิดไม่จำเป็นต้องปลูกในที่แดดจัด ทำให้ระหว่างการรดน้ำในช่วงเช้า เธอสามารถพาลูกออกมาสูดอากาศ แล้วดูการเจริญเติบโตของต้นอ่อนที่พวกเธอได้ลงมือเพาะเองกับมือได้

ต้นอ่อนของกลุ่มแม่เก่งปลูกจะไม่ใช้กระถางทับ เพื่อให้ต้นอ่อนได้งอกอย่างอิสระ ทำให้ได้ต้นอ่อนที่ยาวเป็นพิเศษ ซึ่งแม่เก่งให้เหตุผลว่าที่ต้องยาวเพราะเป็นผักที่ตรงส่วนลำต้นอร่อย เวลาเอาไปทำอาหารอย่างใส่แกงจืด ผัดผัก หรือกินสดๆ กับน้ำพริก ยิ่งต้นยาวยิ่งให้รสสัมผัสที่อร่อยเป็นพิเศษ

\\

“การปลูกผักมันเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่งนะ ที่ผ่านมาเราอยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมง พอปลูกผักเราก็ได้พาลูกมาผ่อนคลาย มาดูผักที่ปลูกด้วย ลองให้เอามือมาจับผัก อาจจะเด็ดจะดึงผักนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร มือเปื้อนบ้างก็ล้างมือ รู้สึกว่าหลังจากได้ปลูกมีความสุขขึ้น เราได้ปลูกเองกินเองแถมเหลือกินก็เอาไปแจกบ้าง เหลือแจกก็เอาไปขายได้อีก”

ต้นทุนส่วนใหญ่นอกจากเมล็ดผักและดินแล้ว ก็มีแค่แสงแดด น้ำ กับการลงมือลงแรงของพวกเธอเท่านั้น ซึ่งต้นทุนแรงงานและความตั้งใจนี้ ถูกเปลี่ยนที่เป็นความห่วงใยและการใส่ใจ แบ่งปันผักปลูกที่ได้แม่ที่มีเด็กพิการคนอื่นๆ ที่ไม่สะดวกในการปลูกผัก แถมแม่เก่งยังอาสาไปสอนวิธีการปลูกผักให้กับคนอื่นๆ ที่สนใจ ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 3-4 คน โดยมีการรวบรวมเงินกันซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบเพิ่มเติม

นอกจากนี้แม่เก่ง ยังแบ่งผักบางส่วนไปขาย แล้วในอนาคตถ้าปลูกได้เยอะขึ้น ก็มีความคิดที่จะนำผักส่วนนี้ไปส่งให้แม่ค้าที่ตลาดนัดเอาไปขายต่อ เพื่อให้มีเงินทุนในการปลูกผักอย่างยั่งยืนต่อไป

“พวกเราชอบโครงการปลูกผักนี้มาก เป็นโครงการที่ดีแล้วคิดว่าน่าจะมาถูกทาง เหมาะสำหรับผู้ปกครองที่มีลูกพิการ เพราะว่าเป็นกิจกรรมที่ทำได้ไม่ยาก ใช้พื้นที่ไม่เยอะ ทำเองได้ที่บ้าน แล้วยิ่งเป็นกิจกรรมที่พวกเราชอบเลยสนุก และไม่รู้สึกว่ายาก แถมยังช่วยคลายเครียดให้ทั้งแม่ที่ปลูกผัก แล้วลูกที่ได้เห็นผักสีเขียว”

ความใส่ใจช่วยให้ผักงอกงาม

แม้จะเริ่มปลูกผักช้ากว่าคนอื่นเล็กน้อย แต่ถ้าได้เห็นต้นอ่อนในกระบะต้นอ่อน และผักสดๆ เป็นจำนวนมากที่กลุ่มของแม่เพลินกำลังช่วยกันตัดแล้วล่ะก็ จะรู้เลยว่าผักที่ปลูกนี้เติบโตได้ดีไม่แพ้ผักของกลุ่มอื่นๆ เหมือนกัน

“รอบล่าสุดเราตัดได้ 3-4 กิโลกรัม รวมแล้วก็ได้เกือบ 40 ถุง ที่นี่เราให้คนในทีมที่สะดวกแยกไปปลูกที่บ้าน เพื่อที่จะได้ดูแลรดน้ำต้นไม้ได้ง่าย แล้วเวลาตัดก็ขนกลับมาช่วยกันตัดที่นี่ บางคนก็ลงทุนซื้อชั้นวางกระบะมาปลูกผักเพิ่มเองก็มี”

แม่เพลิน

แม่เพลิน เล่าถึงเคล็ดลับที่ทำให้กลุ่มปลูกผักของเธอ ซึ่งมีทีมแค่เพียง 6 คน แถมยังเริ่มปลูกช้ากว่า แต่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ

แรกทีเดียวการปลูกผักจะเป็นเพียงกิจกรรมเสริมให้ช่วงโควิดเพื่อช่วยให้พ่อแม่เด็กหลายคนได้มีรายได้เสริมเท่านั้น ซึ่งหลังจากผลที่ออกมาค่อนข้างดี เลยมีการเรียกพ่อแม่คนอื่นๆ ให้มาช่วยเหลือในช่วงที่มีต้องการคน

เพราะจริงๆ แล้ว บ้านของแม่เพลินเปิดเป็น Respite Care บริการดูแลผู้ป่วยทดแทนชั่วคราว ที่ให้พ่อแม่เอาลูกที่พิการมาฝากให้ช่วยดูแลเมื่อมีความจำเป็น ซึ่งเด็กที่ฝากต้องได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้บางครั้งมีการเรียกกำลังเสริมมาช่วยทั้งเลี้ยงเด็ก และปลูกผัก ที่กลุ่มของแม่เพลินมีวิธีการระบายผลผลิตที่ได้เป็นจำนวนมากนี้แบบที่ไม่เหมือนใคร

“เราจ้างพ่อแม่ที่ขับรถรับจ้างแต่ว่าในช่วงโควิดไม่ได้มีงาน มาช่วยส่งผักไปให้เด็กพิการที่กระจายตัวตามโซนต่างๆ เป็นเหมือนบริการเดลิเวอรี ถ้ามีส่งไปบ้านที่มีเด็กพิการ 5 ถุง เราก็ให้ไป 6 ถุง ให้คนที่ไปส่งกินฟรีด้วยเป็นการแบ่งปันกัน คนมีรถก็ช่วยส่ง คนไม่มีก็ช่วยปลูก”

นอกจากการกระจายผักไปยังเด็กพิการคนอื่นๆ ในโครงการอย่างมีประสิทธิภาพที่ช่วยระบายผลผลิตแล้ว ทางกลุ่มของแม่เพลินยังมีช่องทางการขายหลักให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นคุณหมอและพยาบาลในโรงพยาบาล ซึ่งพวกเธอต้องพาลูกๆ เข้าไปตรวจอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว

ส่วนใหญ่คุณหมอและพยาบาลจะเคยชิมความอร่อยของผักสดปลอดสารพิษที่พวกเธอนำมาแจกฟรีในช่วงแรกๆ แล้วกลายมาเป็นลูกค้าประจำที่สั่งจองผักกันล่วงหน้า จนต้องวางแผนปลูกเพื่อที่จะให้ผักโตทันรอบตัด วันที่คุณหมอนัดครั้งต่อไปเลยทีเดียว

ไม่แปลกที่แม่เพลินจะบอกว่า การหาตลาดขายยังง่ายกว่าการปลูกผักซะอีก

ตอนนี้โครงการปลูกผักของพวกเธอเลยมีความคิดต่อยอด เพื่อให้มีผักที่มีประโยชน์กินอย่างสม่ำเสมอ และช่วยให้พ่อแม่ของเด็กพิการมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง โดยการขายผักให้คนที่สนใจนำไปขายต่อในราคาทุน เพื่อที่จะมีต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธ์ุและดินมาเพาะปลูกในต่อไป ทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในโครงการปลูกผักได้มีความสุขอย่างยั่งยืน

“ความสุขของการปลูกผักคือความภูมิใจที่เราได้เห็นผักเจริญเติบโตงอกงาม แล้วช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อกับมันด้วย ถ้าเราไม่ตั้งใจเราก็ปลูกผักไม่ได้ดี เหมือนตอนเราเลี้ยงลูกเหมือนกัน แค่เรื่องการรดน้ำ เราต้องจับดินดูก่อนว่าแห้งขนาดไหน ถ้ารดน้ำมากไปต้นอ่อนก็ขึ้นราเน่าเสีย ถ้ารดน้ำน้อยไปก็เหี่ยวเฉา ที่ผ่านมาเราต้องหาข้อมูลมาเพิ่ม กับปรึกษากันในกลุ่มปลูกผักที่แต่ละกลุ่มจะมาแชร์เทคนิคกัน เพื่อจะได้เอาไปพัฒนาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”

พอถามว่าเลี้ยงเด็กกับการปลูกผักอะไรยากกว่ากัน แม่เพลินหัวเราะเสียงดังก่อนจะตอบว่า

“ถ้าให้เลือกจริงๆ ระหว่างเลี้ยงเด็กกับปลูกผัก ขอเลือกเลี้ยงเด็กแล้วกัน อาจเพราะเราชำนาญแล้วเลยรู้สึกว่าง่ายกว่ามาก แต่คิดว่าถ้าเราได้ปลูกผักอีกสักพักจนชำนาญ ก็ไม่น่ายากเท่าไหร่ เพราะทั้ง 2 อย่างใช้ความใส่ใจเหมือนกัน สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่คิดว่าจะปลูกเพื่อขายเป็นธุรกิจอย่างเดียว การมีงานทำ มีรายได้เป็นส่วนเสริมเท่านั้น เราปลูกผักเพื่อให้มีผักกิน”

การปลูกผักให้อะไรมากกว่าที่คิด

แม้แต่ละกลุ่มที่ปลูกผักจะมีเทคนิคการปลูกที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เห็นเหมือนกันคือแม่ๆ จะหาเวลาว่างพาเด็กๆ มาลองทำกิจกรรมด้วย เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม ได้สนุกกับสิ่งที่ได้เห็น ได้ลงมือทำในสิ่งใหม่ๆ แล้วได้เรียนรู้อยู่กับธรรมชาติทั้งการเห็นเมล็ดผักงอกงามขึ้นมากลายเป็นต้นอ่อนสีเขียวเต็มไปหมด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เสริมเสริมทักษะให้กับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

การเฝ้าสังเกตการเจริญเติบโตจากเมล็ดเล็กๆ งอกงามกลายเป็นต้นอ่อนสีเขียว ๆ ที่แข็งแรงนั้น ทำให้ทุกคนในโครงการต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลูกผักแล้วมีความสุขมาก เพราะมีเวลาได้ดูแลลูกๆ อย่างใกล้ชิด ได้มาเจอหน้าทำกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่ได้กินเมนูอร่อยๆ ที่มาจากผักที่ช่วยกันปลูกขึ้นมา แล้วยังรู้สึกผ่อนคลายจากการได้มาสัมผัสธรรมชาติ

ถ้ากินผักช่วยร่างกายแข็งแรงแล้ว การปลูกผักก็น่าจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง และจิตใจเป็นสุขพร้อมรับมือกับทุกวิกฤตได้เหมือนกัน ใครไม่เชื่อว่าปลูกผักแล้วมีความสุข จะลองหามาปลูกก็ได้ไม่ว่ากัน

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ