น่านสร้างสุข ปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัยภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งานกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “น่านสร้างสุข model” (ปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัยภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง และเสริมพลังการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง) 27 ตุลาคม 2566 ณ อ.เวียงสา จ.น่าน

น่านสร้างสุข ปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัยภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง

 

                    “…หากคาดหวังจะให้เด็กมีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยง ต้องมีการปลูกฝังพฤติกรรมพลังบวกด้วยการสร้างจิตสำนึก ตั้งแต่อายุก่อน 7 ปี ปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัย 3-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองของการพัฒนาด้านสมองและการเรียนรู้ เป็นวัยที่มีความกระตือรือร้นและมีความสามารถในการเรียนรู้ทุกสิ่ง”

                    นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวในช่วงตอนหนึ่งของกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “น่านสร้างสุข model” ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านส้าน อ.เวียงสา จ.น่าน เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

                    จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่าสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีความรุนแรง ด้วยมองการดื่มเป็นเรื่องปกติ และพบคนดื่มสูงสุดเกินกว่า 28% ของประชากรในพื้นที่ โดยจังหวัดน่าน อยู่ใน 10 อันดับสูงสุดของประเทศต่อเนื่องยาวนาน ตามด้วย จ.แพร่ จ.เชียงราย จ.พะเยา ด้วยปัจจัยบริบททางสังคมวิถีชีวิต ภูมิเศรษฐศาสตร์

                    จากปัญหาดังกล่าว สสส. จึงร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ เครือข่ายครูเกษียณ ขับเคลื่อน“น่านสร้างสุข model” ปฏิบัติการงดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยง 360 องศา ตั้งแต่เด็กปฐมวัย เยาวชน และประชาชน สานพลังผ่านบทเรียนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมองค์ความรู้ พัฒนาทักษะชีวิตในเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.น่าน 427 แห่ง ผ่านนิทาน เกม การระบายสี รวมถึงถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ปกครองฉุกคิดว่าจะเป็นต้นแบบชีวิตที่ดีให้ลูกอย่างไร เปรียบเป็นวัคซีนเข็มแรก นำไปสู่การป้องกันที่ยั่งยืนต่อไป นพ.พงษ์เทพ กล่าว

                    “น่านสร้างสุข Model ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ขยายผลการทำงานไปแล้ว 35 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายครูเกษียณ จากผลการทำงาน ชี้ให้เห็นว่าเด็กปฐมวัยมีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น 95% ทั้งนี้ จะขยายผลการทำงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป” นพ.พงษ์เทพ กล่าวเสริม

                    ก่อนหน้านี้ สสส. สนับสนุนโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) สำหรับเด็กปฐมวัย โดยร่วมกับ สคล. ตั้งแต่ปี 2560 โดยเน้นการพัฒนาทักษะชีวิตแก่เด็กปฐมวัย ปลูกฝังให้ความรู้เกี่ยวกับอันตราย โทษของบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตลอดจนการพัฒนาทักษะการสอนของครู ผู้ดูแลเด็ก ให้มีทักษะการสอน พัฒนานวัตกรรมสื่อการสื่อที่เหมาะกับเด็กเล็ก ดำเนินการใน 4 จังหวัด 4 คือ น่าน ศรีษะเกษ ราชบุรี ชุมพร

                    ปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วม 2,800 แห่งทุกสังกัดการศึกษา จากการสังเกตพฤติของเด็กปฐมวัยหลังเข้าโครงการ พบว่า เด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 3 ปี ผ่านเกณฑ์ประเมินมีทักษะชีวิต 95.77% เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 และ 2 (อายุ 3-5 ปี) ผ่านเกณฑ์ประเมิน 94.68% เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) ผ่านเกณฑ์ประเมิน 95.06% ทั้งนี้ เตรียมขยายผลดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงให้เด็กไทย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                    นายศรีสุวรรณ ควรขจร คณะกรรมการกองทุน สสส. และประธานคณะกรรมการบริหารคณะที่ 1 กล่าวว่า “สสส. มองความท้าทายที่สำคัญ  คือ ทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องปัจจัยเสี่ยง ทั้งแอลกอฮอล์ บุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งความจริงแล้วสภาพแวดล้อมเด็กปฐมวัยไม่ซับซ้อน มีบ้าน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านใกล้เรือนเคียง ถ้าสภาพแวดล้อมดี มีความรู้ เข้าใจปัจจัยเสี่ยง และการปลูกฝังที่ดี ก็จะลดความเสี่ยงลงได้ ภาพจำของเด็ก คือ มองเห็นการดื่มเป็นวัฒนธรรม หากเปลี่ยนภาพจำของเด็กได้  ครู และผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญ  ”  

                    การสานพลังที่มีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น นายนพพร เรืองสว่าง นายอำเภอเวียงสา จ.น่าน กล่าวเสริม ว่า “อ.เวียงสาทำงานร่วมกับ สสส. มีการประสานงานจัดงานลด ละ เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษา โดยดำเนินโครงการในวัด งานบุญต่าง ๆด้วยการสอนคนในครอบครัว คนใกล้ตัวให้รู้จักพิษภัย ในปัจจัยเสี่ยงด้วย ในส่วนของงานประเพณีเรือแข่ง มีการรณรงค์ตลอดการแข่งขันปลอดเหล้าอีกด้วย”

                    นางกอบกมล ทบบัณฑิต นักวิชาการและผู้ประสานงานภาคเหนือโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยสี่ยง (เหล้า บุหรี่) สำหรับเด็กปฐมวัย เล่าถึงกุญแจความสำเร็จของการทำงานลดปัจจัยเสี่ยงในเด็กปฐมวัยว่า “การสร้างความรู้ความเข้าใจไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับคุณครู เราจัดชุดองค์ความรู้ และสื่อการเรียนการสอนให้ ประสานงานกับหน่วยงาน โรงพยาบาล และสาธารณสุข เรียนรู้งานระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับโรงเรียน พูดคุยให้ผู้ปกครองลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นอย่างมากด้วย”

                    สอดรับกับ นายชิน พัฒนา นายกอบต.ส้าง อ.เวียงสา จ.น่าน กล่าวถึงการทำงานร่วมกันว่า “การทำงานลดปัจจัยเสี่ยง เป็นการทำร่วมระหว่างผู้นำชุมชน หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายครูเกษียณ และยังมีพระเป็นที่ปรึกษาโดยใช้ธรรมะมาเป็นตัวช่วย และรับข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนมาบูรณาการทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยการสร้างพลังบวกให้เด็กเพื่อขยายผลสู่ชุมชนด้วยแนวคิด เด็กมีภูมิคุ้มกันแล้ว ผู้ใหญ่ต้องไม่ยอมแพ้”

                    ด้าน นางเรณู มาละวัง คุณครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ส้าง กล่าวว่า “ในศูนย์เด็กเล็กเน้นกิจกรรมบูรณาการกับการเรียนการสอน ทั้งร้อง เต้น เล่านิทานและสอดแทรกเรื่องเหล้า บุหรี่ และกิจกรรมเรียนรู้ที่ทำให้เด็กเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของตับ ทั้งสี กลิ่น สัมผัส ซึ่งทำให้เห็นโทษของเหล้าได้อย่างดี เมื่อนำไปบอกเล่าทำให้ทางบ้านเกิดการตระหนัก และ ลด ละ เลิกในที่สุด”

                    ปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้อย่างยั่งยืนด้วยการแก้ที่ต้นน้ำ หากการปรับเปลี่ยน ปลูกฝังพฤติกรรมเกิดตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะทำให้เด็กเติบโตโดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี และยั่งยืน สสส. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการตอบรับความท้าทายในการตัดตอนพฤติกรรมเสี่ยงตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เพื่อสร้างสุขให้เด็กไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ