ทำความรู้จักการศึกษาวอลดอร์ฟ ผ่านการเล่นที่มีชีวิต บนแนวคิด 3 W ในงาน Wonder Life Fest 2023

              บรรยากาศภายในหอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อสั้นๆว่า สวนโมกข์ เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2566 มีการจัดงานระดมทุน ดูแปลกตา ต่างจากการจัดงานระดมทุนของโรงเรียนหรืองานระดมทุนของสมาคม มูลนิธิที่เราส่วนใหญ่เคยเจอะเจอมา

              ด้วยการออกแบบให้มีซุ้มกิจกรรมที่เน้นการใช้มือ สมอง และหัวใจ เพื่อทำงานศิลปะ ทำของเล่น ด้วยแนวคิด Wonder Life Learning นิทรรศการที่มีชีวิต” ใน Wonder Life Fest 2023 เช่น จากไม้กลายเป็นลูกข่าง จากผ้าและเส้นใยกลายเป็นตุ๊กตา ลูกบอลถัก มงกุฎเจ้าหญิงเจ้าชาย สองมือพ่อแม่ทำของเล่นให้ลูก ถักบอลสายรุ้ง และของเล่นแปลงกาย

              ผู้ออกแบบซุ้มกิจกรรมที่เกิดขึ้นในงาน คือผู้ปกครองจากโรงเรียนไตรพัฒน์ ที่รวมตัวกันในชื่อ ชุมชนไตรพัฒน์ ซึ่งเป็นชุมชนที่เชื่อมั่นในแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส.

อะไรคือการศึกษาวอลดอร์ฟ

              รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรีย คือผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวอลดอร์ฟ แห่งแรกในประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1919

              ปัจจุบัน ทั่วโลกมีโรงเรียนวอลดอร์ฟมากกว่า 1,000 แห่ง และอนุบาลเกือบ 2,000 แห่ง สำหรับไทย โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกเกิดขึ้นเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว และได้ขยายแนวคิดนี้ออกไปเป็นศูนย์การเรียนรู้หลายแห่ง นอกจากนั้น ยังมีโรงเรียนกระแสหลักบางแห่งนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน

              แนวคิดพื้นฐานของการศึกษาวอลดอร์ฟคือ “มนุษย์ปรัชญา” ซึ่งว่าด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ หลักสูตรการเรียนการสอนจึงได้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กดังนี้

              เจ็ดขวบปีแรก ความมุ่งมั่นตั้งใจหรือพลังเจตจำนง (willing)

              7 – 14 ปี อารมณ์ความรู้สึก (feeling)

              14 – 21 ปี ความคิด (thinking)

              ครูมีอิสระในการนำเสนอรูปแบบการสอนของตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่าน มือ หัวใจ และสมอง ด้วยความสามารถจากการลงมือทำ การสัมผัสด้วยใจ และการใช้ศักยภาพในการคิด

              เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กทุกด้าน มีขั้นตอนที่สะท้อนความต้องการของเด็กทั้งภายในและภายนอก ในด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยมีขั้นตอนจากทักษะพื้นฐานไปสู่ทักษะที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และไม่ได้เน้นการแบ่งเป็นรายวิชา แต่เป็นการพัฒนาที่เชื่อมประสานกันเป็นองค์รวม

              บทบาทของโรงเรียนและพ่อแม่ในแนวการสอนวอลดอร์ฟ จึงเป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองไปตลอดชีวิต

ชุมชนไตรพัฒน์ ผู้จัดงาน Wonder Life Fest

สะท้อนความร่วมแรงร่วมใจของผู้ปกครองที่เชื่อมั่นในแนวทางการสอนแบบวอลดอร์ฟ

              ชุมชนไตรพัฒน์ คือการรวมตัวของผู้ปกครองโรงเรียนไตรพัฒน์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาวอลดอร์ฟ เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือสนับสนุนและร่วมแรงร่วมใจกันของคณะครูที่มีประสบการณ์มากกว่า 14 ปี และผู้ปกครองที่เล็งเห็นความสำคัญของแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเลี้ยงบุตรหลาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้สอดคล้องกับแนวทางของโรงเรียน ให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมดุลทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา

              คณะครูและผู้ปกครองจึงช่วยกันระดมทุมและแรงงาน เพื่อสร้างโรงเรียนขึ้นที่ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในชื่อ โรงเรียนไตรพัฒน์ โดยมุ่งให้เป็นโรงเรียนที่ไม่แสวงหาผลกำไร

3 W คืออะไร และสำคัญอย่างไรกับการเรียนรู้ของเด็ก

เก็บตกจากงาน Wonder Life Fest

              ในงานนี้ ผู้จัดตั้งใจออกแบบกิจกรรมต่างๆ ให้สอดประสานกัน ด้วยเแนวคิด 3 W คือการ เฝ้ารอ (wait) มองเห็น (watch) แล้วจะเห็น (wonder) ผ่านการเล่นอิสระ (Free play) ในหลากหลายรูปแบบ โดยชวนพ่อแม่ มาทำความรู้จักความหมายแท้จริงของการเล่นอิสระ ซึ่งการเล่นแนวนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีขอบเขต ไม่มีการควบคุมดูแลเด็ก แต่หัวใจของการเฝ้ารอผ่านเล่นอิสระ คือ ปล่อยให้การเล่นของเด็กเป็นไปตามจินตนาการ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมการเล่นอิสระในห้องเล่นเด็กเล็ก 2-6 ปี และลานเล่นเด็กโต 7-12 ปี

              เราได้เห็นการใช้มือเล็ก ๆ นำพาสีก้อนใหญ่เคลื่อนไหวตามใจกลายเป็นเส้นสายของสี แดง น้ำเงิน เหลือง สีก้อนโปร่งแสง สร้างความอัศจรรย์ใจเมื่อสีบรรจบกัน แล้วได้สีใหม่ด้วยกิจกรรม มือเล็กสีใหญ่ ช่วยให้เด็กได้ปลดปล่อยจินตนาการไปบนกระดาษ

              เด็กๆ ยังได้สนุกกับการเล่นกับแสงกับกระดาษว่าวโปร่งบางที่กลายเป็นได้ทั้งพระอาทิตย์ร้อนแรง และดอกไม้สีหวาน ตามใจจินตนาการ ในกิจกรรมศิลปะกระดาษพับ รวมทั้งการทำว่าวไม้ไผ่ทำมือ จากโครงว่าวไม้ไผ่

              และได้ฟังนิทานเพื่อช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ตามแบบวอลดอร์ฟ ที่ครูจะเล่านิทานด้วยตุ๊กตา หุ่นตั้งโต๊ะ หรือหุ่นสาย ที่ออกแบบมาให้มีสัดส่วนร่างกายเหมือนร่างกายคนจริง ๆ เว้นส่วนของใบหน้าที่ไม่ชัดเจน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กแต่งแต้ม สร้างตัวละครของตัวเองตามใจจินตนาการ

              ระหว่างดูกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงาน เราก็ได้เข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กและผู้ปกครองถึงความสำคัญของ 3 W ซึ่งมีการอธิบายไว้ในงานว่า

Wait เฝ้ารอ

              การรอเมื่อถึงเวลา หรือเมื่อเด็กพร้อมจริงๆ คือการเปิดทางให้ศักยภาพภายในของเขาทำงานอย่างเต็มที่ เป็นการส่งเสริมในสิ่งที่เด็กต้องการ ตรงตามพัฒนาการและช่วงวัย

              บ่อยครั้ง การเฝ้ารอยังหมายถึงการหยุดตัวเราเอง ก่อนที่จะเข้าไป “จัดการ” หรือแทรกแซงสถานการณ์ของเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้มี “ประสบการณ์” กับสิ่งที่เกิดขึ้นและ “จัดการ” มันด้วยตัวเอง

Watch เฝ้ามอง

              สังเกตลูก หรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับลูกด้วยสติตื่นรู้ เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นแท้จริงแล้วคืออะไร Wonder แล้วจะเห็นการหยุดและเฝ้ารอที่จะทำให้ใจของเราได้รับรู้ถึงการเติบโตและความเปลี่ยนแปลงของลูกที่น่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับที่ตัวหนอนกลายเป็นผีเสื้อ

Wonder แล้วจะเห็น

              การหยุดและเฝ้ารอ จะทำให้ใจของเราได้รับรู้ถึงการเติบโตและความเปลี่ยนแปลงของลูกที่น่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับที่ตัวตนหนอนกลายเป็นผีเสื้อ

              ผีเสื้อที่ปรากฏขึ้น อาจจะไม่เป็นไปตามที่ใจเราหวัง เพราะผีเสื้อจะเติบโตด้วยตัวตนของมันเอง และมั่นคือความงามที่ตระการตายิ่งกว่า


ธนิตา จันทร์วิเมลือง (แม่เอ๋)

ผู้ปกครองที่มาร่วมออกแบบกิจกรรมในงาน

              ในงานนี้ โรงเรียนเปิดรับสมัครให้ผู้ปกครองมาเวิร์กช้อปซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมมาก เราเลือกมาทำเวิร์กช้อปนี้โดยเตรียมอุปกรณ์และสอนวิธีทำ ผ่านการพูดคุยกับคนที่ทำมาแล้ว อ่านหนังสือ และเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งกระดาษว่าวที่เราเอามาให้พับในกิจกรรมนี้มีความยาก เพราะกระดาษลื่น เราจึงต้องใช้สมาธิในการเตรียมอุปกรณ์ ที่เลือกทำกิจกรรมนี้ เพราะอยากเป็นตัวอย่างให้ลูกได้เห็นว่า เราสามารถทำอะไรที่เราไม่เคยทำมาก่อนได้ เราลงมือทำให้ลูกเห็นเลยโดยไม่ต้องพูด ไม่ต้องบอก เพราะงานนี้ก็ถือเป็นงานแรก และเราเองก็ไม่ได้มีความรู้ด้านศิลปะมาก่อน

พงศ์พล แซ่โง้ว (พ่อโจ้)

ความหมายและคุณค่าของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไตรพัฒน์

              ผมเป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่มีลูกเรียนที่โรงเรียนนี้ ความสนใจในการศึกษาแนวนี้เกิดจากการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่เด็กที่เราไม่เปิดทีวีในบ้าน ไม่ให้ลูกดูมือถือ แต่ตอนนั้นลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนกระแสหลัก ก็ส่งผลให้ลูกเกิดความสับสน ผมเลยตัดสินใจหาโรงเรียนที่เราเห็นว่าสอดคล้องกับแนวทางการเลี้ยงดู ซึ่งก็มาตรงกับแนวการสอนของโรงเรียนไตรพัฒน์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง และเป็นที่มาของคำว่า “ไตรพัฒน์” คือ ครู ผู้ปกครอง เด็ก ทั้งสามองค์ประกอบต้องมีความเข้าใจกันและกัน ที่สำคัญคือ ผู้ปกครองต้องลงมือทำด้วย ต้องมีการช่วยเหลือกันและกัน ทำให้พ่อแม่ที่เพิ่งเข้ามา เข้าใจว่า หน้าที่ของผู้ปกครองต่อลูกและโรงเรียนมีอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่ขับรถมาส่งลูกตอนเช้า และรอรับกลับตอนเลิกเรียนเท่านั้น และก็ทำให้เรามาร่วมกันออกแบบจนเกิดเป็นงานนี้

ภารดี ปลอดภัย

หนึ่งในคณะทำงาน กับการจัดกิจกรรมโดยใช้ 3 W

              การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการระดมทุน เพราะเราเป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีนักเรียนประมาณสองร้อยกว่าคน โรงเรียนตั้งมาสิบปีแล้ว มีการสอนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รูปแบบการบริหารโรงเรียนเราไม่มีผู้อำนวยการ ไม่มีผู้บริหาร แต่เราทำงานในรูปของสภาครูผู้ปกครอง ซึ่งทำให้เรามีค่าใช้จ่ายอีกหลายอย่าง ที่ผ่านมา เราจัดงานแค่ภายในโรงเรียน ขอสปอนเซอร์บ้าง แต่เราอยากขยายแนวคิดการศึกษาวอลดอร์ฟให้กระจายไปในวงกว้าง ผ่านเรื่องราวดีๆ ที่พวกเราทำกัน และอยากให้สังคมรับรู้ โดยการออกแบบกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดในงาน Wonder Life Fest ครั้งนี้มาจากการระดมความเห็นของผู้ปกครองทั้งหมดเลย เราอยากแบ่งปันความรู้ที่ได้จากการลงมือทำกันในชุมชน จึงออกแบบให้มีกิจกรรมในรูปแบบเวิร์กช้อป เพื่อให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ มาร่วมเรียนรู้ด้วย โดยอยู่บนแนวคิด Wait Watch Wonder เพื่อให้ผู้ปกครองเห็นวิธีการของการเลี้ยงลูกแบบที่ไม่ควรรีบร้อน แต่เราต้องฝึกเฝ้ามองลูกอย่างที่ลูกเป็น และเราจะได้เห็นสิ่งที่เราไม่คาดคิด ซึ่งเป็นความอัศจรรย์ที่เกิดจากธรรมชาติในตัวเด็ก

 

Shares:
QR Code :
QR Code