ทบทวนเส้นทาง 10 ปี เครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ผู้ชวนเด็กมาค้นหาความสุข-ความสนุก-ความรู้นอกห้องเรียน

              ทุกๆ ปิดเทอม ช่วงเวลาที่เด็กหลายคนรอคอย กว่า 150 วันต่อปีที่ไม่ต้องไปโรงเรียน หลายครอบครัวพาลูกหลานไปท่องเที่ยว เด็กหลายคนต้องช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ เช่นเดียวกับเด็กอีกมากมายที่ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนโดยขาดการดูแลจากผู้ใหญ่ ทำให้ทุกปีมีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการจมน้ำจำนวนมาก

              “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส.  เพื่อให้เกิดการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใกล้บ้านแก่เด็กโดยมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งรูปแบบศูนย์เรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สนามกีฬา หรือแม้แต่บ้านของประชาชนทั่วไป

การดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา

              โดยแต่ละพื้นที่มีรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างกันตามบริบทของชุมชน เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาว่างในการเรียนรู้ ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ตามความสมัครใจ ทั้งในรูปแบบกิจกรรมเสริมทักษะ จิตอาสา เวิร์กช็อป หรือ การฝึกงาน แชร์พื้นที่สำหรับเรียนรู้และใช้ชีวิตในช่วงปิดเทอมและวันว่าง

               ศิริพร พรมวงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ กล่าวถึงการดำเนินโครงการว่า โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง เกิดจากฐานคิดที่มาจากการวิจัยและสถิติที่เกี่ยวกับเด็กในช่วงปิดเทอม สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เดิมเราทำหน้าที่รณรงค์การเฝ้าระวังเด็กช่วงปิดเทอม รวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กในช่วงปิดเทอม จึงเชิญชวนภาคีเครือข่ายมาขับเคลื่อนงาน และขยายการทำงานเชิงพื้นที่มากขึ้น  จนเกิดการจัดขบวน 25 จังหวัด เพื่อมาขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ให้เกิดแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนขึ้นมา

            ศิริพร พรมวงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์

              “เด็กๆ ไม่ได้ต้องการของเล่นที่อลังการ เขาแค่ต้องการเพื่อนเล่น ในพื้นที่ที่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นการทำพื้นที่เรียนรู้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง ต้องเป็นสถานที่ขนาดใหญ่ เราสามารถใช้พื้นที่ที่มีอยู่แล้วของทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชน แม้กระทั่งบ้านของคนในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ พื้นที่เรียนรู้จึงสามารถทำได้หลายระดับสอดคล้องกับบริบทและกำลังคนในพื้นที่” ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าว

              จากการดำเนินงานมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทำให้โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ได้ขยายผลไปในหลากหลายพื้นที่รวมกว่า 200 ตำบล และมีผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทั้งผู้ประสานงานโครงการในแต่ละจังหวัด และคนทำงานในพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ

กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ภาคีเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์ฯ

              ล่าสุดกับการจัดกิจกรรมถอดบทเรียนปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ที่ชวนภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศมาร่วมทบทวน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำปี 2566 ในรูปแบบกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ ฐานเรียนรู้ตามความสนใจ ในหลายประเด็น อาทิ

  • การจัดกิจกรรมในชุมชนเมือง
  • ทำงานกับภาครัฐอย่างไรให้เวิร์ค
  • ชวนเยาวชนมาเป็นผู้จัดอย่างไร
  • การทำพื้นที่เรียนรู้ให้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน

              เพื่อให้ทีมทำงานในภาคีเครือข่ายได้เรียนรู้ในประเด็นที่สนใจตามความสมัครใจ พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา และแนะนำแนวทางแก่เพื่อนภาคีด้วย

กิจกรรมล้อมวงศึกษาประเด็นที่สนใจ

ความคาดหวังของภาคีเครือข่าย

              ตลอดระยะเวลาการจัดโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ฯ มานับ 10 ปี ทำให้เกิดรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย และในปีนี้จึงมีจัดกิจกรรมถอดบทเรียนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ภาคีเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์ฯ ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนปัญหา และมองหาทางออกร่วมกัน

              โดยเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมอบรมมีความคาดหวังต่อการดำเนินงานของโครงการต่อจากนี้คือ

  • เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงกิจกรรมในพื้นที่ของตนเองได้
  • การประชาสัมพันธ์ประสบความสำเร็จ พื้นที่เรียนรู้เป็นที่รู้จัก
  • เกิดเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพของทีมทำงานทั้งในแง่ความรู้ความสามารถ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ
  • พื้นที่แหล่งเรียนรู้มีความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องที่และคนในชุมชน
  • ภาครัฐให้ความสำคัญกับช่วงเวลาปิดเทอมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น มีการผลักดันให้กลายเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

              ทั้งนี้ยังมีความท้าทายในหลายประเด็นที่ต้องมีการพัฒนากระบวนการทำงานต่อ อาทิ การต้องประสานงานกับภาครัฐและชุมชน ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าวว่าต้องใช้เวลา ค่อยๆ เข้าไปแนะนำตัวกับหน่วยงานท้องถิ่น สร้างร่วมมือกับ วัด โบสถ์ มัสยิด ที่คนในชุมชนคุ้นเคยอยู่แล้ว เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนในชุมชน จนกระทั่งเกิดความรู้ความเข้าใจถึงกิจกรรมที่ทำ รวมถึงการทำให้พื้นที่เรียนรู้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยการจัดกิจกรรมในสิ่งที่ชุมชนมีต้นทุนอยู่แล้ว และค่อยๆ ต่อยอดพัฒนาตามศักยภาพขึ้นไปตามลำดับ

              โดยความสำเร็จของการทำพื้นที่เรียนรู้นั้น ไม่ใช่รางวัลจากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน แต่คือ ความสุข ความสนุกและการได้เรียนรู้ของเด็กๆ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม ที่ถือเป็นผู้ประเมินความสำเร็จของโครงการที่สำคัญที่สุด

การแชร์ประสบการณ์ระหว่างภาคีเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์

ที่ไหนก็กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้สร้างได้

              หากคุณมีภาพจำว่าพื้นที่เรียนรู้ต้องเป็นแค่ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือ Learning Space ขนาดใหญ่ อยากชวนให้ไปรู้จักกับ การทำพื้นที่เรียนรู้โดยภาคีเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์ ที่สามารถแปลงทุ่งนา ป่าไม้ แม่น้ำลำคลอง บ้านคนในชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ได้

              พนัสบดินทร์ พิมพ์สิน ผู้จัดพื้นที่เรียนรู้ศิลปะจากธรรมชาติ ในชื่อกลุ่ม “มหา’ลัยไทบ้าน” ชุมชนดงลาน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ที่จัดกิจกรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐานพื้นที่เรียนรู้ ในประเด็น วิถีชีวิต ธรรมชาติ ตลอดจนองค์ความรู้ ในชุมชน โดยมีฐานความรู้ต่างๆ กระจายอยู่ทั่วอำเภอ

              “กิจกรรมของชุมชนเรามีหลายอย่าง เช่น การทำสาโท การจักสาน การหาปูหาปลา การเรียนรู้ศิลปะกับธรรมชาติ เช่น ทำภาพพิมพ์จากใบไม้ การใช้สีจากวัสดุธรรมชาติ การสต๊าฟใบไม้ ทำให้เด็กได้รู้จักต้นไม้ ดอกไม้ ผ่านการทำงานศิลปะ และช่วยฝึกสมาธิ ซึ่งเราเลือกสิ่งที่เราทำได้ และเชื่อมโยงกับตัวเราขึ้นมาก่อน โดยไม่จำเป็นต้องรองบประมาณ ไม่มีงบเราก็ค่อยๆ ทำได้ตามกำลัง”

ผู้จัดพื้นที่เรียนรู้ศิลปะจากธรรมชาติ ในชื่อกลุ่ม “มหา’ลัยไทบ้าน”

              แอมมี่ ผู้ประสานโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ฯ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา และผู้ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนโฮมฮอมฮักและกลุ่มละอ่อนโฮม เล่าถึงการทำหน้าที่บทบาทผู้ประสานงานว่า ในฐานะผู้ประสานงานที่ได้ดูแลทั้งกลุ่มเครือข่ายผู้ใหญ่และเด็กจึงได้นำทั้ง 2 กลุ่มมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กลุ่มผู้ใหญ่สอนด้านอาชีพแก่เด็ก ในขณะที่เด็กก็สอนด้านการใช้เทคโนโลยีแก่ผู้ใหญ่ สร้างกิจกรรมที่เป็นเครื่องมือในการรวมพลที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมแหว่งกลางในชุมชน

ผู้ประสานโครงการจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา

              “ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ เราไม่เคยมองข้ามคนกลุ่มเล็กๆ ที่เขาทำกิจกรรมเพื่อเด็ก เราก็จะเข้าไปหนุนเสริมทั้งเรื่องการประสานงาน การสนับสนุนงบประมาณ รวมถึงเข้าไปสื่อสารว่าหัวใจของปิดเทอมสร้างสรรค์คืออะไร จนเกิดวิทยากรที่ทำงานกับเด็กจริงๆ สามารถดึงศักยภาพเด็กออกมาได้ เกิดการละลายพฤติกรรมที่ได้งาน และการมาร่วมงานถอดบทเรียนครั้งนี้ ก็ต้องการมารับฟังประสบการณ์ของพื้นที่ต่างๆ มาเก็บเกี่ยว เรียนรู้ และนำไปใช้” แอมมี่ในฐานะผู้ประสานงานโครงการระดับจังหวัดกล่าว

              และนี่คือหนึ่งในดอกผลของการขับเคลื่อนงานปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ที่แม้จะต่างที่มา ต่างกิจกรรม แต่พวกเขามีเป้าหมายเดียวกันคือการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้ สำหรับเด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย เพื่อเรียนรู้โลกกว้างที่มากกว่าห้องเรียน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ