ถอดบทเรียน “ครอบครัวยิ้มจังหวัดลำปาง” กับการทำงานแบบ “ใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือเด็ก”
สุภาษิตของแอฟริกาที่กล่าวถึงการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งว่า “ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” คือการสื่อความหมายว่า การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาได้อย่างปลอดภัย มีสุขภาพกายและใจที่ดี และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากคนหลายกลุ่มที่อยู่รอบตัวเด็กที่สามารถสนับสนุน ส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครอง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเด็กได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นกับเด็ก
นั่นหมายความว่า ชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่นั้นมีความสำคัญต่อเด็กคนหนึ่งในการเติบโตขึ้นมาอย่างมีสุขภาวะหากชุมชนใดสร้างให้เกิดความสัมพันธ์เชิงบวกกับเด็กได้ ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ความเป็นอยู่ที่ดี และการเรียนรู้ของเด็กให้เติบโตสมวัยและเป็นพลเมืองที่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
เด็กจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ และรู้สึกปลอดภัย มั่นคง และมีความมั่นใจในการแสดงออกผ่านการเล่น สำรวจ และเรียนรู้ หากได้อยู่ในชุมชนที่มีบริการครอบคลุมทุกด้านของชีวิต และเป็นบริการที่เชื่อมโยงผู้คนและสถานที่ในชุมชน เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและบริบทของครอบครัวเด็ก
ขณะเดียวกัน ก็หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันกับครอบครัวของเด็ก เป็นชุมชนที่สร้างสภาพแวดล้อมการศึกษาและการดูแลที่ตอบสนอง ปลอดภัยและมั่นคงของชีวิตเด็กทุกช่วงวัย
และนี่จึงเป็นที่มาของ “คณะทำงานครอบครัวยิ้ม” ซึ่งดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัวในชุมชนระยะที่ 2 โดยมี สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ให้การสนับสนุน
หัวใจในการทำงานของการขับเคลื่อนกลไกทางสังคมเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าคณะทำงาน “ครอบครัวยิ้ม” อยู่ที่ “คนในหมู่บ้าน” รวมตัวกันเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนกลไกการทำงาน ตั้งแต่ระดับจังหวัด ให้สามารถสนับสนุนการดำเนินงานในระดับพื้นที่และสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดกระแสการดูแลสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในระดับตำบล จนนำมาสู่โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน โดยมีรูปแบบและกลไกการทำงาน “เพื่อเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคน” ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนตนเอง
คณะทำงานพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวระดับตำบล
รูปธรรมของการทำงานโดยใช้คนทั้งหมู่บ้านเลี้ยงดูเด็ก
ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (สพร.) และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จึงร่วมกันขับเคลื่อนกลไกทางสังคมในภารกิจบูรณาการงานพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานกับครอบครัวเปราะบางในพื้นที่ โดยใช้หลักคิด “ชุมชนนำ” มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชน ได้รับการดูแลและส่งเสริมศักยภาพเติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งของสังคม
ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินงานของโครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน ในพื้นที่ 7 จังหวัด (พะเยา ลำปาง สุรินทร์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ เลย และตรัง) นอกจากการเกิดคณะทำงานทั้งในระดับจังหวัดและระดับตำบลของแต่ละจังหวัด รวม 70 ตำบลแล้ว ยังเกิดฐานข้อมูลที่ระบุถึงสถานการณ์เด็กเยาวชนและครอบครัวในแต่ละตำบล โดยมีการแบ่งแยกระดับสถานการณ์ออกเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดงตามช่วงวัย ซึ่งคณะทำงานพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชน และ ครอบครัวในระดับตำบลเป็นผู้กำหนดนิยามร่วมกัน ทำให้สมาชิกทุกคนในคณะทำงานนี้สามารถรู้จักสภาพปัญหาของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในพื้นที่มากขึ้น นำไปสู่การเกิดรูปแบบและกระบวนการช่วยเหลือเด็ก เยาวชนและครอบครัวได้ตรงตามสภาพและสถานการณ์ของครอบครัวและของเด็ก
สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สนับสนุนให้ สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ จัดเก็บความรู้ที่เกิดจากการดำเนินงานของคณะทำงานพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในระดับตำบลในครอบครัวรูปแบบต่างๆ ในชุมชน เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของตำบลที่สนใจร่วมดำเนินงานในรูปแบบคณะทำงานระดับตำบล และพัฒนาสู่การเป็นชุมชนต้นแบบสุขภาวะ
ในการลงเยี่ยมบ้าน คณะทำงาน “ครอบครัวยิ้ม” จะใช้รูปแบบการเยี่ยมเยือนถามไถ่ทุกข์สุข หลายคนไม่นิยมนำสมุดปากกา หรือแบบฟอร์มติดมือไป แต่เปลี่ยนเป็นขนม ของเล่น หรือสื่อการเรียนรู้ที่ได้รับจาก สสส. เพื่อสร้างความคุ้นเคยและความเป็นธรรมชาติในการพูดคุยกับครอบครัว เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไว้ใจ และกล้าเปิดใจพูดคุยให้ข้อมูลลึกๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่องการนำมาสังเคราะห์และวางแผนทำงานเพื่อช่วยเหลือต่อไป
หลังจากได้ข้อมูลครบทุกครัวเรือนในตำบลที่คณะทำงานรับผิดชอบแล้ว ก็จะมีการมาประชุมร่วมกัน เพื่อสังเคราะห์ข้อมูล แล้วทำการจัดกลุ่มแยกประเภทเด็ก คณะทำงานแต่ละตำบลสามารถสร้างเกณฑ์ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมของแต่ละตำบล ในการแบ่งกลุ่มเด็กออกเป็น สีเขียว เหลือง และแดง
คณะทำงาน “ครอบครัวยิ้ม” ใช้หลักการทำงานเพื่อให้เข้าถึงครอบครัวเปราะบางในรูปแบบ “เครือข่ายทำงานร่วมกันฉันท์มิตร” ซึ่งมีคุณลักษณะสำคัญคือ มีฉันทามติร่วมกัน ตระหนักถึงความท้าทาย เรียนรู้และทำด้วยกัน ประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเผชิญอุปสรรค ทำงานด้วยความมุ่งมั่นรับผิดชอบ เคารพกันและกัน
หลังจากคณะทำงานได้ร่วมกันวิเคราะห์เด็กในแต่ละครอบครัว และจัดกลุ่มสีตามเกณฑ์ที่แต่ละตำบลเห็นชอบร่วมกันแล้วว่าเด็กคนไหนอยู่ในกลุ่มสีใด จากนั้น ก็วางแผนด้วยกันว่าจะเข้าช่วยเหลือกลุ่มที่จำเป็นเร่งด่วน
4 ขั้นตอนสำคัญของการดำเนินงานของคณะทำงาน “ครอบครัวยิ้ม”
นี่คือหนึ่งในกระบวนการหนุนเสริมคนทำงานด้านสุขภาวะระดับตำบล ให้สามารถช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และครอบครัวรูปแบบต่างๆ ในชุมชน ให้สามารถเลี้ยงดูเด็กเหมาะสม เด็กและเยาวชนได้รับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการตามวัย และพัฒนาสู่ชุมชนสุขภาวะต้นแบบ